วันนี้ (25 ก.ค.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ไวรัสฝีดาษลิง ไม่ได้แพร่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ แต่การติดเชื้อสามารถเกิดได้หลายช่องทาง หลักๆ คือ
- การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มแผล หรือ สารคัดหลั่งที่มีไวรัสอยู่
- การรับเชื้อจากละอองฝอย จากการคุยกันกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย หรือ จากกิจกรรมที่อยู่ใกล้ชิดกันมากๆ เช่น การกอดกัน จูบกัน หรือระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
- ผ่านการสัมผัสสิ่งของ หรือวัตถุ ที่มีการเจือปนของไวรัสที่ผู้ป่วยไปสัมผัสมา เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือโทรศัพท์มือถือ
- รับเชื้อผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์ผ่านทางรก
- รับจากสัตว์ที่ติดเชื้อ
ความเสี่ยงจากการติดเชื้อเกิดขึ้นมากกว่ากิจกรรมทางเพศตามที่หลายคนอาจเข้าใจผิดกันไป
นอกจากนี้ ดร.อนันต์ ยังระบุให้ข้อมูล ถึงการตรวจหาไวรัสฝีดาษลิง อีกว่าการตรวจหาไวรัสฝีดาษลิงอาจใช้ตัวอย่างจากการ Swab คอ เหมือนที่เก็บตัวอย่างตรวจโควิดได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ผื่น หรือตุ่มขึ้นที่ผิวหนังแล้วค่อยเก็บตัวอย่างไปทำ PCR ตรวจ ตัวอย่างจากคอ (หรือจากน้ำลาย?) สามารถให้ผลบวกก่อนที่จะมีอาการทางผิวหนัง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสการแพร่เชื้อในสภาวะที่ไวรัส มีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างดี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภูเก็ตพบ 19 คน สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ป่วย "ฝีดาษวานร"
ถกแขนเสื้อด่วน! แบบไหนปลูกฝี? ป้องกันฝีดาษลิง