ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตกล้วยไข่ จ.กำแพงเพชร

ภูมิภาค
2 ส.ค. 65
09:46
1,701
Logo Thai PBS
วิกฤตกล้วยไข่ จ.กำแพงเพชร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กล้วยไข่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งแต่ละปีสร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาท แต่ขณะนี้พื้นที่ปลูกลดลงเรื่อยๆ จากมีมากกว่า 4 หมื่นไร่ เหลือไม่ถึง 3 พันไร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกเพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์เมืองกล้วยไข่

ใบกล้วยที่แตกหัก จากลมพายุ ส่งผลทำให้ต้นกล้วยไข่ของเกษตรกรในตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เสียหาย ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต เกษตรกรจึงต้องคอยตัดแต่งใบออกป้องกันปัญหาการติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อราใบไหม้

 

นายนพพล เทพประถม ชาวสวนกล้วยไข่ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ระบุว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กล้วยเสียหายเกิดจากพายุลม แม้บางช่วงมีลมพายุไม่แรงมากถึงขนาดทำให้ต้นกล้วยหักโค่น แต่ก็ทำให้ใบแตกเสียหาย และเกิดโรคตามมา เมื่อต้นไม่สมบูรณ์ผลผลิตก็มีขนาดเล็กขายไม่ได้ราคา จึงทำให้ขาดทุนส่วนใหญ่จึงต้องเลิกอาชีพนี้ไป

 

นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้นำเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรกำแพงเพชร ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรกล้วยไข่ ยกระดับปลูกกล้วยไข่แปลงใหญ่ด้วยเกษตรกรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด หลังพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชเอกลักษณ์ ของจังหวัดกำแพงเพชรลดลงต่อเนื่อง

 

สำหรับแนวพัฒนากล้วยไข่กำแพงเพชร ได้วางไว้ 3 แนวทาง คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำ ส่งเสริมการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ป้องกันการหักล้มจากลมพายุ 2.ส่งเสริมเพิ่มพื้นที่ปลูกในเขตที่มีศักยภาพการผลิตเดิม และ 3.ส่งเสริมการปลูกกล้วยไข่เชิงอนุรักษ์ เช่น โรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนชาวกำแพงเพชร ตระหนัก หวงแหน และร่วมกันอนุรักษ์กล้วยไข่ให้อยู่คู่เมืองกำแพงเพชร



จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร อดีตจังหวัดกำแพงเพชรเคยมีพื้นที่ปลูกกล้วยไข่กว่า 40,000 ไร่ กระจายในทุกอำเภอ สร้างรายได้ปีละกว่า 600 ล้านบาท และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่าเป็นเมืองกล้วยไข่ แต่ขณะนี้เหลือพื้นที่เพาะปลูกเพียง 2,951 ไร่เท่านั้น และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ที่มีความเสี่ยงน้อยและอายุการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าแทน ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดกำแพงเพชร จึงส่งเสริมให้กลับมาปลูกกล้วยไข่ ให้มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้และคงความเป็นเมืองกล้วยไข่เอาไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง