วันนี้ (4 ส.ค.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) แถลงข่าวการจับกุมเครือข่ายขายยารักษา COVID-19 เถื่อน
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการประสานงานทำงานร่วมกันระหว่าง อย. และ บก.ปคบ. สืบหาแหล่งขายยาโมลนูพิราเวียร์ผิดกฎหมายทางออนไลน์ พบว่า มีการลักลอบนำเข้ายา ทั้งโมลนูพิราเวียร์ ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และสเปรย์พ่นจมูกที่มีสวนประกอบของไนตริกออกไซด์
ซึ่งยาดังกล่าวถูกลักลอบ นำเข้าโดยผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่ผ่านการตรวจสอบจากด่านอาหารและยา เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา
การปฏิบัติการครั้งนี้ ได้จับกุมเครือข่าย 3 คน ของกลาง 2,300 กล่อง หรือประมาณ 80,000 เม็ด มูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท โดยผู้ต้องหารู้จักกับชาวอินเดียและให้ช่วยซื้อยาดังกล่าว พร้อมลักลอบนำเข้าจากอินเดียมาไทย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าผ่านด่านศุลกากร ไปรษณีย์แจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ มียาบางส่วนที่ผู้ต้องหาหิ้วมาด้วยตัวเอง โดยกระทำดังกล่าวมานาน 2 เดือน
ไม่ควรซื้อยารักษาโควิดมากินเองผ่านทางออนไลน์ ยาโมลนูพิราเวียร์ ฟาวิพิราเวียร์ ในปัจจุบันยังถือเป็นยาควบคุมพิเศษ เป็นยาที่ผู้ผลิตขึ้นทะเบียนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรต้องรับตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น
นายอนุทิน กล่าวว่า ยารักษา COVID-19 ดังกล่าว ผู้ที่จัดซื้อและนำเข้ามายังเป็น สธ. ยังไม่มีการขายทั่วไปในร้านขายยา หรือสถานพยาบาล ซึ่ง สปสช.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแจกจ่ายให้ผู้ป่วยตามคำวินิจฉัยของแพทย์ หากประชาชนซื้อมากินเองอาจได้รับยาปลอม ที่ไม่มีตัวยาสำคัญ หรือยาไม่มีประสิทธิภาพ
ยาของกลางนี้ ไม่แน่ชัดว่าเป็นยาจริง หรือยาปลอม แต่ที่แน่ ๆ เป็นยาเถื่อน ไม่ได้จดทะเบียน ไม่ได้ขึ้นทะเบียน
รมว.สธ. กล่าวว่า มีความพยายามสร้างกระแสกรณีแพทย์ไม่สั่งจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ จึงควรซื้อยามาเก็บไว้เองนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย รวมทั้งส่งผลต่อสุขภาพ พร้อมขอให้เชื่อดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ควรไปซื้อยาด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ การตรวจค้นบ้านพักย่านลาดพร้าว ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า พบยาโมลนูพิราเวียร์ ยี่ห้อ Mylan 1,351 กล่อง ยาโมลนูพิราเวียร์ ยี่ห้อ Asista 200 กล่อง, ยาโมลนูพิราเวียร์ ยี่ห้อ XENON 300 กล่อง, ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อ XENON 270 กล่อง โดย น.ส.ฉลวยรัตน์ รับว่าเป็นเจ้าของยาทั้งหมดเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า
ต่อมาได้สืบสวนขยายผล และเข้าตรวจค้นเพิ่มเติมในวันที่ 2 ส.ค. ที่บ้านพักย่านราชพฤกษ์พบของกลางยา FAVIKAST 20 กล่อง, ยา MOLAZ 30 กล่อง, ยาเรมเดซิเวียร์ 7 กล่อง, FABIS SPRAY 75 กล่อง, ยา MOLNATRIS 82 กล่อง, ยา MOLUZEN 33 กล่อง, ยา MOLCOVIR 3 กล่อง และยา FERAVIR 10 กล่อง พร้อมจับกุมนายประเสริฐ เจ้าของบ้านและเจ้าของยาดังกล่าว และในวันที่ 3 ส.ค.ได้ขยายผลจับกุมผู้ค้ารายย่อยอีก 1 คน คือ น.ส.ขนิษฐา
สำหรับผู้ต้องหามีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 (4) ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือไม่ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ