หลังจากเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกสตูล ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก (Global Geopark) ทำให้ "ถ้ำทะลุ" อ.ละงู กลายเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์กใน จ.สตูล
นอกจากความพิเศษที่เป็นถ้ำขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการละลายของหินปูนที่มีลวดลายชวนเก็บภาพ ยังมีสัตว์หาดูยากให้ได้เห็นกันตัวเป็น ๆ อีกด้วย ซึ่งก่อนถึงทางเข้าก็มีจุดให้ถ่ายรูปเช็กอินกันตั้งแต่แรกกับ "หินโอเค" หินปูนที่ถูกกัดกร่อนจนกลายเป็นรูปคล้ายมือที่กำลังทำสัญลักษณ์โอเคอยู่
ไกด์ท้องถิ่นซึ่งเป็นอาสาสมัครจากคนในชุมชน ฉีดสมุนไพรกันยุง ก่อนสวมไฟฉายคาดหน้าผาก ติดไมโครโฟนพร้อมสะพายลำโพงคาดเอวเดินนำหน้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อบรรยายข้อมูลตลอดเส้นทาง 400 - 500 เมตร
เพียงแค่เดินขึ้นไปถึงปากถ้ำ ทุกคนก็จะได้เห็นฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ทั้งนอติลอยด์ แกสโตพอต และแบรคิโอพอด ซึ่งอยู่ในยุคพาเลโอโซอิก (Palaeozoic era) หรือช่วง 545 - 245 ล้านปีก่อน
เมื่อเดินเข้าไปก็จะได้กลิ่นและเริ่มได้ยินเสียงของเจ้าถิ่น คือ ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฑ์ที่มีอยู่กว่า 500 ตัว กระจายอยู่ในถ้ำ บินโฉบไปมาให้ได้ชมกันแบบชัด ๆ
ระหว่างทางหากสังเกตบริเวณที่แคบ ๆ จะพบกับสัตว์หาดูยากอย่างตุ๊กกาย สัตว์ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับตุ๊กแก ต่างกันตรงที่ตีนจะเรียวเหมือนนิ้วมือคน ซึ่งตุ๊กกายจะเน้นใช้เล็บในการปีนป่ายไม่เหมือนตุ๊กแก ขยับไปอีกนิดก็สังเกตเห็น แมงมุมขายาว หรือแมงมุมพเนจรตัวใหญ่โชว์ตัวเกาะอยู่บนผนังกำแพง และยังพบรอยตีนและมูลเลียงผาหลายจุดอีกด้วย
กระทั่งเดินไปสุดปลายทางของถ้ำจะได้เห็นหลุมยุบที่เกิดจากถ้ำทรุดตัวจนเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ มีระบบนิเวศแบบปิดเฉพาะตัว มีพืชพรรณแปลกตาอย่างเห็ดถ้วยแชมเปญ ต้นท้ายเภาขนาด 15 คนโอบ และพันธุ์ไม้วงศ์กระดังงาที่แตกต่างจากภายนอก เดินมาเหนื่อย ๆ ก็มีถ้ำแอร์โพรงถ้ำกลางป่าให้ได้ยืนตากลมเย็นดับร้อนด้วย
นายธานี ใจสมุทร อาสาสมัครผู้นำเที่ยวอุทยานธรณีโลก บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ตั้งแต่มีการประกาศให้เขาทะลุเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลก ทำให้แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้คึกคักมากยิ่งขึ้น มีนักท่องเที่ยวทั้งประชาชนทั่วไปและนักเรียน นักศึกษาเดินทางมาหลักร้อยต่อเดือน
ชาวบ้านในพื้นที่ทุกคนมาทำด้วยใจ รายได้ไม่ต้องพูดถึง ใครมาเที่ยวเราไม่คิดเงิน มีแต่เขาบริจาคให้ตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสม
สำหรับคนในชุมชนหลายส่วนร่วมแรงรวมใจกันมาทำงานต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในบ้านเกิด หวังจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้เป็นมรดกธรรมชาติของลูกหลานในอนาคต
ขณะที่ตอนนี้นักวิจัย สวทช.ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคนในชุมชนร่วมกันสร้างแพลตฟอร์ม "นวนุรักษ์" ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานธรณีสตูลกันได้ผ่านออนไลน์เป็นน้ำจิ้ม ก่อนเดินทางมาชมของจริงด้วยตัวเอง