ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ปณิธาน" ตอบปมไร้ เอฟ-16 ซ้อมรบไทย-จีน

สังคม
10 ส.ค. 65
19:48
1,267
Logo Thai PBS
"ปณิธาน" ตอบปมไร้ เอฟ-16 ซ้อมรบไทย-จีน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ระบุว่าการซ้อมรบทางอากาศระหว่างไทยกับจีน ถูกกำหนดไว้นานแล้ว พร้อมไขปมเหตุทัพไทยไม่ใช้ F-16 ของสหรัฐฯ ซ้อมรบ เพราะเป็นข้อตกลงทางการทหารที่จะใช้ยุทโธปกรณ์ร่วมกัน

วันนี้ (10 ส.ค.2565) รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กล่าวถึงการซ้อมรบทางอากาศ "Falcon Strike 2022" ระหว่างไทยกับจีนที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ในรายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ของไทยพีบีเอสว่า เป็นการกำหนดซ้อมรบล่วงหน้ามานานแล้ว ซึ่งขณะนี้ต้องรอแถลงการณ์อย่างเป็นทางจากกองทัพอากาศ เพราะอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการรบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ท่ามกลางความกังวลกับปฏิบัติการซ้อมรบของจีนกับไต้หวัน

รศ.ปณิธาน ระบุว่า มีคำถามว่าควรเลื่อนการซ้อมรบออกไปก่อนหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าถ้าเลื่อนออกไปได้ก็ดี แต่ขั้นตอนการเลื่อนก็มีความซับซ้อน เพราะการเตรียมการใช้เวลาหลายเดือนและมีค่าใช้จ่าย การเลื่อนต้องอธิบายกับมิตรประเทศให้ดี ซึ่งอาจเป็นสัญญาณลบกับประเทศที่นัดหมายไว้

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องช่างน้ำหนักให้ดี ถ้าเลื่อนไม่ได้ก็จำเป็นต้องเสริมมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศอื่น ๆ ไม่ให้เกิดความรู้สึกหรือความสงสัย ในยามที่สถานการณ์การเมืองในภูมิภาคค่อนข้างแปรปรวน

รศ.ปณิธาน กล่าวว่า รูปแบบการซ้อมรบระหว่างไทยกับจีน เป็นการซ้อมรบแบบจำกัดในเชิงสัญลักษณ์ มีการเคลื่อนกำลังจริง มีการจำลองสถานการณ์การขึ้นบก สถานการณ์การขึ้นกำลังประชิดชายแดนในอดีต จำลองการต่อสู่แบบสมัยใหม่ รวมทั้งการช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรม ซึ่งการซ้อมรบดังกล่าวจะเชิญหลายประเทศมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

การซ้อมรบนี้ เพื่อรองรับการปฏิบัติการของจีนที่จะเข้ามาในภูมิภาค ให้กองทัพไทยคุ้นเคยกับยุทโธปกรณ์จีน ให้ไทยเข้าใจระบบสายบัญชาการ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด

ในการซ้อมรบกับมิตรประเทศ จะมีข้อตกลงทางการทหารว่า จะไม่สลับยุทโธปกรณ์ของแต่ละประเทศที่มาจากคนละกลุ่ม จะใช้ยุทโธปกรณ์ร่วมกันในการปฏิบัติการ

ดังนั้น ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระบุว่า กองทัพอากาศไทยจะไม่ใช้เครื่องบินรบ F-16 ของสหรัฐฯ เข้าร่วมการซ้อมรบ แต่จะใช้เครื่องบินขับไล่กริพเพนของสวีเดน และเครื่องบินรบอัลฟ่าเจ็ทของเยอรมนี ถือเป็นเรื่องปกติ

หลายปีที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ การไม่ใช่ยุทโธปกรณ์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

รศ.ปณิธาน กล่าวว่า ในทางการเมืองสหรัฐฯ อาจจะตั้งคำถามกับไทยถึงความเหมาะสม แต่ในทางการทหารสหรัฐฯ รู้แล้ว ว่าจะมีการซ้อมรบดังกล่าว ซึ่งทางทหารสหรัฐฯ มีระบบเฝ้าระวัง ระบบตรวจจับ และดูความเคลื่อนไหวทางการทหารทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรบ หรือปฏิบัติการจริง หรือว่าลอบปฏิบัติโดยไม่แจ้ง

ทางการทหารสหรัฐฯ เขาตรวจจับอยู่แล้ว แต่ในทางการเมือง ไทยต้องเตรียมตัวตอบคำถามถึงความเหมาะสม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง