นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ในปีนี้ จ.สตูล ให้ความสำคัญกับการโปรโมตอุทยานธรณีโลก สตูล (Satun Global Geopark) มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ จ.สตูลได้รับการอนุมัติจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2561 ให้เป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลก และได้มีการตรวจประเมินซ้ำเมื่อเดือน มิ.ย.65 ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะผ่านการตรวจประเมินอีกครั้ง
นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล
ทั้งนี้ อุทยานธรณีโลกสตูล ถือเป็นพื้นที่สำคัญเนื่องจากมีการพบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ในยุคพาเลโอโซอิก (Palaeozoicera) คือช่วง 545 - 245 ล้านปีก่อน เป็นมหายุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งในมหาสมุทรและบนบกถือเป็นจุดเด่นด้านธรณีวิทยา
เนื่องจาก จ.สตูล เป็นจังหวัดใต้สุดฝั่งอันดามัน มีความสวยงามทั้งเรื่องธรรมชาติท้องทะเลและป่าภูเขา โดยมีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนใน จ.สตูล อย่างมาก
การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีววิทยา การบริหารจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น การบริหารจัดการวัฒนธรรมท้องถิ่น และศึกษาการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์เช่น ในถ้ำทะลุ ถ้ำเลสเตโกดอน ถือว่ามีความสำคัญ เพราะองค์ความรู้ที่เข้ามาวิจัยเหล่านี้พอสรุปเป็นองค์ความรู้แล้ว ประชาชนก็จะสามารถนำไปพัฒนา อนุรักษ์ พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนให้สอดคล้องกับ BCG โมเดลได้
ดังนั้น จึงนำมาสู่ความร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ ในการรวบรวมองค์ความรู้ ทั้งงานวิจัยจาก สวทช. นักวิจัยมหาวิทยาลัย และประชาชนในท้องถิ่น โดยเก็บบันทึกไว้ใน 'นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม' ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมหลักฐานด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคตของ จ.สตูล เก็บไว้ให้คนในชุมชนนำไปศึกษาใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ เกิดอาชีพและสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพในจังหวัดสตูล และความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า สวทช. โดยโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ ได้สนับสนุนงานวิจัยจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย
เห็ดแชมเปญ พบบริเวณโดยรอบใกล้ถ้ำทะลุ
1.การนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของสิ่งมีชีวิตในถ้ำ อุทยานธรณีโลกสตูล เข้าในแพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์” โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารจัดการ ภาพถ่าย ไฟล์วีดีโอ คลิปเสียง และเรื่องราวนำชม (story telling) ไม่น้อยกว่า 3,000 รายการ รวมถึงการฝึกอบรมให้ชุมชน
ตุ๊กกาย ในถ้ำทะลุ
โครงการที่ 2. คือ การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของสิ่งมีชีวิตในถ้ำ ในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์และจุลินทรีย์ในถ้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน (ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า ถ้ำอุไรทอง ( ต.กำแพง อ.ละงู) และถ้ำทะลุ (ต.เขาขาว อ.ละงู)
บรรยากาศในถ้ำเล สเตโกดอน
รวมถึงการศึกษาด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวฐานชีวภาพในพื้นที่อุทยานธรณีโลก เพื่อใช้ในการประเมินซ้ำในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้านอุทยานธรณี พัฒนาไกด์ท้องถิ่น และการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ปูก้ามแดงพบบริเวณเนินทราย หอสี่หลัง จ.สตูล
โครงการที่ คือ 3. โครงการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการเที่ยวยั่งยืน มุ่งเน้นการรวบรวมสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อุทยานธรณีโลกสตูล จ.สตูล
เนินทรายหอสี่หลัง จ.สตูล
ทั้งนี้จะเน้นศึกษาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ หาดราไวย์ หาดแหลมสน บุโบย หาดบางศิลา ในทอน ท่าอ้อย สันหลังมังกร เกาะสะบัน เขาทะนาน หอสี่หลัง เกาะตะรุเตา เกาะลิดีและเกาะอาดัง ราวี หลีเป๊ะ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวฐานชีวภาพในพื้นที่อุทยานธรณีโลก
อุทยานธรณีโลกสตูล จ.สตูล จะมีไม่ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือของคนสตูล เพราะนี่คือ ความภูมิใจที่เขามี ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ชุมชนมีความเข้าใจ ภาคภูมิใจในสิ่งที่มี รวมถึงยกระดับท้องถิ่นเช่น การผลิตผ้าบาติกที่ใช้สีจากดินมาใช้ทำสีเสื้อ และทำลายเสื้อโดยมีแบบจากซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งจากนี้จะมีการเก็บข้อมูลร่วมกันต่อไป เพราะข้อมูลจะถูกลดทอนไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการเก็บไว้สิ่งที่จะช่วยได้คือ “นวนุรักษ์” ที่จะเป็นฐานข้อมูลได้
ด้านนายเทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า จุดเด่นของแพลตฟอร์มดิจิทัล 'นวนุรักษ์' คือ ผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงาน หรือชุมชน ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูล และเป็นเจ้าของข้อมูล เข้ามาเพิ่มหรือ update ข้อมูลได้ด้วยตนเอง
"ลำตับ" อาหารโบราณของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง จ.ลพบุรี
รวมถึงสามารถใส่ชื่อวัตถุ รหัส ชื่อไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะการเก็บรักษา สถานที่ ข้อมูลกายภาพ ข้อมูลทางชีวภาพ บทบรรยายสำหรับนำชม ขนาด ลักษณะ ประวัติ สถานที่จัดเก็บได้ โดยสามารถเลือกได้ว่าต้องการเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่ และ upload media ต่างๆ เช่น ภาพ เสียง วิดีโอ ภาพ 360 องศาได้
ที่ จ.ลพบุรี มีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น อาหารของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง จ.ลพบุรี ที่ชื่อว่า "ลำตับ" ที่เคยหายไปจากชีวิตนานกว่า 50 ปี และก็ได้ทำขึ้นมาอีกครั้งและให้ผู้เฒ่าผู้แก่ชิมก็ได้ฟื้นอาหารชนิดนี้ขึ้นมาอีก และก็ทำให้มีเรื่องเล่า ดังนั้นการเก็บข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยได้
นอกจากนี้ ระบบสามารถเลือกแสดงผลรายการวัตถุจัดแสดงในรูปแบบของ OR Code สามารถนำไปประยุกต์สำหรับใช้ทำสื่อเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงจัดทำแบบสอบถามผ่านทาง QR Code เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสามารถแสดงความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลเชิงสถิติ
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ เก็บข้อมูลได้ระยะยาว ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้ข้อมูลได้ ช่วยยกระดับและพัฒนาทักษะของชุมชนให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลดิจิทัลและการสื่อความหมายได้อย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการสามารถสร้างเส้นทางท่องเที่ยว โดยชุมชนสามารถโปรโมตเส้นทางท่องเที่ยวแบบใหม่ได้ ผ่านแพลตฟอร์มและนำเสนอได้มากขึ้น
ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ร่วมใช้งานกว่า 100 แห่ง ในอดีตมีไปทำที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งวัด และ เอกชน รวมการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ 10 ชุมชนที่ จ.น่าน จ.สุโขทัย จ.นครพนม จ.โคราช จ.ลพบุรี จ.ตราด จ.ภูเก็ต จ.พังงา และ จ.บุรีรัมย์
ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน และวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ได้ที่ เว็บไชต์ https://www.navanurak.in.th/satungeopark