ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หนึ่งเดียวในไทย ลายฟอสซิล-ย้อมสีดิน ต่อลมหายใจ 20 ปี "ปันหยาบาติก"

ภูมิภาค
12 ส.ค. 65
16:10
1,139
Logo Thai PBS
หนึ่งเดียวในไทย ลายฟอสซิล-ย้อมสีดิน ต่อลมหายใจ 20 ปี "ปันหยาบาติก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"น.ส.กอบกุล โชติสกุล" ประธานวิสาหกิจชุมชนรุ่นใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์ "วาดลายฟอสซิล ย้อมสีดิน" หนึ่งเดียวในไทย สร้างรายได้ ต่อลมหายใจ 20​ ปี​ "ปันหยาบาติก" พร้อมดึงคนรุ่นใหม่ทดแทนปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ

การรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกสตูล​ (Global​ Geopark)​ จากยูเนสโก​ นับเป็นแสงสว่างให้คนในท้องถิ่นที่คาดหวังว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ "วิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก" ที่ไม่เคยหยุดนิ่งไปกับกาลเวลา แต่พัฒนาต่อยอดจากของดีในชุมชนสู่การเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางอุทยานธรณีโลกสตูล

หัวเรือใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ น.ส.กอบกุล โชติสกุล หรือ กิ่ง ในวัย​ 34​ ปี ที่ตัดสินใจก้าวออกจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจในหัวหิน มาเริ่มต้นพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่บ้านเกิด จนกลายมาเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติกต่อจากพ่อของเธอ


เป็นเวลา 20 ปี ที่ น.ส.กอบกุล เติบโตมากับวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2545 รายได้เริ่มลดลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ทายาทรุ่นที่ 2 คนนี้ มองหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอีกครั้ง ด้วยเอกลักษณ์ "เขียนลายฟอสซิล ย้อมสีดิน " ซึ่งผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูล​ ก็เข้ามาชักชวนให้ร่วมกันสร้างสรรค์ลวดลายฟอสซิล ทะเลโบราณยุคออร์โดวิเชียนได้ทันเวลาพอดี เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวของอุทยานธรณีโลก 

 


นอกจากลวดลายแล้ว น.ส.กอบกุล ยังได้ปรึกษากับนักวิจัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาสีธรรมชาติมาใช้ย้อม โดยได้รับคำแนะนำจากกรมทรัพยากรธรณี อุทยานธรณีโลกสตูล และ สวทช.​จนกลายมาเป็นผ้าย้อมสีดิน Terra rossa ที่เกิดจากย่อยสลายของหินปูน ทำให้ได้สีน้ำตาลอมส้มที่เป็นเอกลักษณ์ต่างจากผ้ามัดย้อมทั่วไป

การใช้สีดินเป็นโจทย์ท้าทาย เพราะย้อมหรือแต้มสีได้ยากกว่าสีเคมีที่ใช้โดยทั่วไป จึงต้องลองผิด ลองถูกอยู่หลายครั้ง เพื่อให้สีติดผ้า ในที่สุดความพยายามก็สำเร็จ เรามีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากสีธรรมชาติ 100% และกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียว 


หลังสร้างจุดขายให้ผลิตภัณฑ์ได้แล้ว ประกอบกับการเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล ทำให้รายได้ของวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องมาสะดุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว แต่หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น ทำให้ช่วงนี้ออร์เดอร์เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว แต่กลับเจอปัญหาใหม่ คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือ

คนสูงอายุเกษียณตัวเอง ดึงคนรุ่นใหม่สืบทอด

น.ส.กอบกุล ยอมรับว่า สมาชิกวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติกลดลงจาก 30 คน เหลืออยู่เพียง 3 คนเท่านั้น เพราะสมาชิกเก่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ร่างกายเริ่มไม่ไหวกับการทำงานฝีมือที่ต้องก้มนาน ๆ จนทำให้ขณะนี้อาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาดแคลนแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะช่างวาดลายบาติกที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญอย่างมาก


ทั้งนี้ ประธานวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติกจึงริเริ่มการดึงคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นเข้ามาเป็นอีกแรงขับเคลื่อน เพื่อต่อลมหายใจงานฝีมือของคนในชุมชนให้เดินต่อไปได้ แม้จะมีการเปิดสอนทั้งในรูปแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย และเก็บเงินเป็นรายคอร์ส แต่ก็ยังหาพนักงานใหม่ที่สนใจจะสืบสานทักษะนี้ต่อไปได้ยาก และผลิตผ้าไม่ทันตามออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามามากกว่า 200 ออร์เดอร์ในขณะนี้ 

ตอนนี้พ่อก็อายุ 76 ปีแล้ว ส่วนแม่ก็ 60 กว่าปี เหลือช่างฝีมืออยู่เท่านี้ ส่วนตัวกิ่งไม่เก่งงานศิลปะ ไม่ถึงขั้นวาดลายได้ แต่คุ้นเคยกับเรื่องแต้มสี และฝึกบล็อกลายอยู่ เพราะดูมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้จึงพยายามจะหาคนรุ่นใหม่เข้ามาฝึกและช่วยทำงานเรื่อย ๆ  


แต้มสีผ้าบาติก หวังของดีสตูลสู่สายตานักท่องเที่ยว 

พนักงานหลังร้าน คือ บัณฑิตป้ายแดงที่เพิ่งเรียนจบ และตัดสินใจเลือกงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก คนแรกเล่าว่า เคยทำงานพาร์ตไทม์ที่นี่มาก่อน เพื่อหารายได้ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย จึงกลับมาทำอีกครั้งเพราะอยู่ใกล้บ้าน และชื่นชอบศิลปะเป็นการส่วนตัว งานนี้ช่วยทำให้จิตใจสงบ และเป็นพื้นที่ให้ได้ฝึกทักษะฝีมือ

ในฐานะที่เป็นเยาวชน เมื่อได้มาทำงานตรงนี้ แล้วนักท่องเที่ยวมาเห็นเราก็ภูมิใจ บางคนไม่คิดว่าเด็กรุ่นใหม่จะมาทำงานนี้ แต่หนูแฮปปี้มาก และรู้สึกว่าที่ทำอยู่มันไม่ใช่การทำงาน แต่เป็นการทำให้คนอื่นได้รู้วัฒนธรรมของบ้านเราว่ามีอะไรดี มีอะไรเด่น


ขณะที่พนักงานอีกคน ระบุว่า หลังเรียนจบจากมาเลเซียก็ได้รับการทาบทามจากเพื่อนให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นี่ โดยทำงานมาแล้วประมาณ 1 ปี และรู้สึกภูมิใจกับงานทุกชิ้นที่ผ่านมือของตัวเอง เพราะนับเป็นงานที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ผ้าบางผืนอาจมีลวดลายแตกต่างกัน บางผืนอาจแต้มสีต่างกัน ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเป็นงานทำงานที่มีกิมมิคเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จึงอยากจะทำงานนี้เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของบาติกสตูลและรู้ว่าที่บ้านเรายังมีของดีอีกมากมาย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก "นวนุรักษ์" แพลตฟอร์มช่วยอนุรักษ์ความรู้ชาวบ้านผสานงานวิจัย

"สตูล" ลุ้นใบเขียวต่อ ประเมินอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกรอบใหม่

วันหยุดนี้​ ชวนเที่ยว​เชิงอนุรักษ์​ ดูสัตว์หายากใน​ "ถ้ำทะลุ"

"สวทช.-ชุมชน-นักวิชาการ" สร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นใน "นวนุรักษ์" ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง