ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผวาพบเชื้อ "อีโคไล" ในน้ำตกทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

ภูมิภาค
17 ส.ค. 65
10:55
1,603
Logo Thai PBS
ผวาพบเชื้อ "อีโคไล" ในน้ำตกทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว อยากให้มีการแก้ไข หลังผลวิจัยพบเชื้ออีโคไล หรือ เชื้อที่มาจากอุจจาระ ปริมาณสูงในน้ำตกทางขึ้นดอยสุเทพ เกรงส่งผลต่อสุขภาพประชาชน

หลังจาก ไทยพีบีเอส เสนอข่าว กรณีนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงน้ำตกแห่งหนึ่งก่อนขึ้นดอยสุเทพ ว่า เต็มไปด้วยเชื้ออีโคไล หรือ เชื้อที่มาจากอุจจาระ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำ และหาแนวทางแก้ปัญหานี้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่นด้วย 

 

น้ำตกรับเสด็จ ซึ่งเป็นน้ำตกเล็กๆ บริเวณทางขึ้นก่อนถึงพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมา นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจเก็บตัวอย่างน้ำ จากลำห้วยต่างๆบนดอยสุเทพ พบว่าน้ำตกแห่งนี้ เป็นจุดที่มีปริมาณ อีโคไล ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มาจากอุจจาระ ปนเปื้อนสูงที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพได้ 

 

นายแพทย์รังสฤษฎ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาทราบปัญหานี้มานานแล้วจากการวิจัยของนักศึกษา ที่ได้ศึกษาคุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติบนดอยสุเทพ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พบว่าน้ำจากน้ำตกรับเสด็จ ซึ่งผ่านชุมชนดอยสุเทพ มีเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในปริมาณสูง 90,000-100,000 โคโลนีของแบคทีเรียต่อน้ำ 100 ซีซี. และเห็นว่ามีกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มนักปั่นจักรยาน แวะเข้าไปใช้น้ำตกในการล้างหน้า ทำความสะอาดร่างกาย และบางคนถึงขั้นดื่มกิน ซึ่งเกรงจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคนในชุมชน ร่วมกันทำการแก้ไข เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และคนปลายน้ำ

 

นายขจร ประเสริฐศรี ผู้ใหญ่บ้าน ระบุว่า หมู่บ้านดอยสุเทพ มีผู้อาศัย 222 ครอบครัว รวมประชากร กว่า 700 คน นอกจากนั้นยังมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการร้านอาหาร ตลอดจนห้องน้ำที่เปิดบริการวันละหลายพันคน

 

โดยหมู่บ้านแห่งนี้มีน้ำจากลำห้วยบนดอยไหลผ่านสมทบกับน้ำเสียจากชุมชนที่ไม่ได้ผ่านการบำบัด จึงทำให้เกิดการปนเปื้อน โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งจะมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนมาก เนื่องจากน้ำจากลำห้วยบนดอยไหลลงมาน้อย เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่กันมานานหลายสิบปี ที่ไม่มีการวางแผนในระบบพื้นฐานของอาคารและไม่ได้มองถึงอนาคตการเติบโตของชุมชน และการบำบัดน้ำเสียของชุมชนจะทำอย่างไร แต่ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาตรวจสอบหลายครั้ง และอยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียร่วมกับหมู่บ้าน

 

ขณะที่ นายประดิษฐ์ สีใส ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่1 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ, สาธารณสุข, อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และเทศบาลตำบลสุเทพ ลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ อาทิ สี, กลิ่น, อุณหภูมิ, ความเป็นกรด-ด่าง, อ๊อกซิเจนในน้ำ, แบคทีเรียในกลุ่มโคลีฟอร์ม(TCD)และกลุ่มฟีคอนโคลีฟอร์ม(FCB), แอมโมเนียในหน่วยไนโตรเจน และค่าความสกปรก(BOD) บริเวณน้ำตกรับเสด็จซึ่งเป็นจุดที่ถูกระบุว่า พบอีโคไลจำนวนมาก และแหล่งต้นน้ำเหนือหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังตรวจบริเวณห้วยผาลาดซึ่งอยู่ปลายน้ำ เพื่อนำผลการตรวจสอบมาเปรียบเทียบ คุณภาพน้ำ ระหว่าง ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดย ศูนย์อนามัยที่1 กรมอนามัย ได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจในห้องแลป เพื่อตรวจหาเชื้ออีโคไล ซึ่งจะทราบผลในอีก 5 วัน

 

นายวิภู กฤษณุรักษ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่1 กรมอนามัย ระบุว่า จริงๆ แล้วมาตรฐานน้ำมี 2 มาตรฐาน โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมจะตรวจตรวจสอบมาตรฐานน้ำแหล่งน้ำผิวดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบ ส่วนกรมอนามัยจะตรวจสอบมาตรฐานน้ำบริโภค ซึ่งตามประกาศเกณฑ์ของกรมอนามัย ปี2564 มาตรฐานน้ำบริโภคซึ่งจะมี อีโคไลเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ที่เป็นประเด็นทางสื่อโซเชี่ยล เป็นแหล่งน้ำดิบแหล่งธรรมชาติซึ่งต้องพบแบคทีเรียอยู่แล้ว ไม่เหมาะที่จะนำไปบริโภคโดยตรงอยู่แล้ว การที่จะนำไปบริโภคต้องนำไปปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและมีคุณภ่พก่อน ซึ่งการปรับปรุงตามเกณฑ์มาตรฐานต้องไม่พบอีโคไล

 

ขณะที่หมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และหมู่บ้านแห่งนี้มีลำน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี 

 

นายประดิษฐ์ ถมมา อดีดผู้ใหญ่บ้านบอกว่าที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีข้อตกลงร่วมกันคือทุกครอบครัวต้องจัดทำบ่อดักตะกอนและไขมัน ก่อนปล่อยน้ำทิ้ง ส่วนห้องน้ำสถานประกอบการห้องพักและร้านอาหาร ต้องมีถังบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยลงบ่อเกรอะและบ่อซึม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในลำน้ำธรรมชาติ

 

อีโคไล คือ แบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ บางสายพันธุ์ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่บางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด คลื่นไส้หรืออาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และมีไข้ โดยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ ภายใน 1-10 วัน ผู้รับเชื้อควรรีบเข้ารับการรักษา หากปล่อยไว้ผู้ป่วยจะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และไตวาย อาจจะทำให้เสียชีวิตได้..

ข่าวที่เกี่ยวข้อง