วันนี้ (25 ส.ค.65) รศ.เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ทางรายการ มุมการเมือง โดยกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการวินิจฉัย ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ต้องมีผู้ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ โดยระบุว่า
หาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯได้ นั้นมีคำถามจากหลายฝ่ายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ รมว.กลาโหม จะสามารถทำหน้าที่รักษาการนายกฯได้หรือไม่ โดยส่วนตัว รศ.เจษฎ์ คิดว่าไม่ได้เพราะเท่ากับว่าเป็นการทำให้คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหมัน หากทำแบบนี้ก็จะเป็นเหมือนที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็น "ศรีธนญชัย"
ศาลฯสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ และคุณกลับมาทำหน้าที่รักษาการนายกฯ จะต่างอะไรกับการเป็นนายกฯเอง และคิดว่าทำแบบนี้ไม่ได้
รศ.เจษฎ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมมติว่าคนอื่นเป็น รมว.กลาโหม และอยู่ในลำดับที่จะเป็นรักษาการนายกฯนั้นสามารถทำได้ หรือไม่ได้กำหนดตำแหน่งว่าให้บุคคลใดรักษาการ แต่ต้องการให้ รมว.กลาโหมมาทำหน้าที่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่บุคคลคนเดียวกับที่ถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่
กรณีดังกล่าวมีความแตกต่าง คือ กรณีที่มีตัวนายกฯอยู่แต่ตัวนายกฯปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และกรณีไม่มีตัวนายกฯอยู่ เช่น รัฐมนตรีลาออก หรือ พ้นจากตำแหน่งจะแตกต่างกัน เช่น กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยังเป็นนายกฯรัฐมนตรีรักษาการได้ เพราะเป็นตัวนายกฯแต่ไม่ใช่นายกฯแบบเต็มตัวแล้ว
แต่กรณียังมีตัวนายกฯอยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นายกฯได้ ก็จะให้เป็นหน้าที่ของรักษาการนายกฯ โดยให้บุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทน โดย มีข้อตกลงระหว่างคณะรัฐมนตรีอยู่แล้วว่าอยู่ในลำดับกันอย่างไร
รศ.เจษฎ์ ยังมองถึงการรับคำร้องกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยระบุว่า ตามคำร้องนั้น ร้องว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบ 8 ปีแล้ว ในวันที่ 24 ส.ค.65 มี "เหตุอันควรสงสัย" ว่าเป็นเช่นนั้น คือ วันที่ 24 ส.ค.65 ซึ่งหนึ่งในอันที่เป็น "เหตุอันควรสงสัย" เกิดขึ้น แต่ "เหตุอันควรสงสัย" อื่นอาจยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่า "เหตุอันควรสงสัย" มันมี ถ้าหากว่าจะยังให้นายกฯยังคงปฏิบัติหน้าที่นายกฯต่อไปตามที่มี "เหตุอันควรสงสัย" นั้นอาจทำให้เกิดปัญหาได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ไม่อาจเยียวยาได้ หรือ ปัญหาที่อาจทำให้เกิดความกระทบกระทั่งแล้วความไม่าสงบเกิดขึ้นเพราะฉะนั้น เมื่อศาลฯเห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัย ซึ่งเมื่อพิจารณาแม้ว่าจะเบาเมื่อเทียบกับพยานหลักฐานในลักษณะอื่นแต่ก็เป็นเหตุชั้นต้น
รศ.เจษฎ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า "เหตุอันควรสงสัย" นั้นเป็นชั้นต้น "เหตุอันควรเชื่อ" เป็นชั้นที่ขยับขึ้นมาอีก หรือ "มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อ" ก็สูงขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นเหตุที่เบาบาง แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากปล่อยให้ไปถึงขั้น "เหตุอันควรเชื่อ" หรือ "มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อ" มันอาจจะทำเหตุอันควรสงสัยภายในชั้นต้นไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่ง "เหตุอันควรเชื่อได้ว่า" ก็เพียงพอแล้วในการใหหยุดปฏิบัตืหน้าที่ ไม่ใช่การสั่งให้ออกจากหน้าที่ ซึ่งนี่เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
ดังนั้น กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดยเสียงเป็นเอกฉันท์ไม่เกินความคาดหมาย แม้ว่าจะรับก่อนวันที่ 24 ส.ค.65 ก็ตาม โดยศาลสามารถรับเรื่องได้ในการตรวจสอบพยานหลักฐาน โดยการรับเรื่องมานั้นใกล้ชิดกับเหตุ และเหตุดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นจึงไม่แปลก
แต่กรณีให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ อาจจะเกินความคาดหมายไปบ้างแต่ก้ไม่มากนักเพราะสัดส่วนอยู่ที่ราว 50 : 50 แต่ก็เพราะศาลฯต้องการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ และระงับความวุ่ยวาย และต้องการใช้เพื่อมาตรการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งค่อนข้างเป็นบวกกับรัฐบาลด้วย ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงนั่งอยู่และมีการประชุมสภากลาโหมในวันนี้ ถ้าประชุมในการดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็อาจไม่มีประเด็นมากมายนัก
แต่เมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญและหากยังใช้รถหลวง บ้านหลวง ก็อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ ฉะนั้นคำสั่งดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการช่วยรัฐบาลให้พ้นจากการที่ต้องแบกรับสภาวการณ์นี้ พ้นจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรดี หรือ พ้นจากการขับไล่ ดังนั้น คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นผลบวกกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในทางบวกกับประเทศชาติ
ทั้งหมดนี้เป็นบวกกับรัฐบาล เพราะช่วยรัฐบาลให้พ้นจากการที่ต้องแบกรับกับสภาวการณ์นี้ และก็เป็นบวกกับฝ่ายค้านด้วย ฝ่ายค้านก็ควรไปทำเรื่องอื่น ไม่ต้องพะว้าพะวงกับนายกฯ ที่ทำงานในระยะเวลาที่เกิน 8 ปีไปแล้ว เพราะศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว
ขณะที่ หากมองไปยังมติ 5 :4 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยตุลาการศาลฯ 4 ท่านในฝั่งเสียงข้างน้อยมองว่า นายกฯจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ และเหตุอันควรสงสัยว่าครบ 8 ปี นั้นอาจจะครบ 8 ปี หรือไม่ครบ 8 ปีก็ได้ ดังนั้นมติของตุลาการทั้ง 4 เสียงจึงมองว่า ไม่มีเหตุอันควรสงสัยมากพอ หรือ เหตุที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายมากพอจึงไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่อีก 5 ท่าน มองวิถีทางใช้กฎหมายที่กว้าง และมองว่า การใช้กฎหมายอย่างแคบอาจสร้างปัญหาต่อบ้านเมืองและส่งผลกระทบต่อตัวนายกฯได้ ดังนั้นจึงใช้กฎหมายอย่างกว้างเพื่อความปลอดภัยต่อบ้านเมือง