วันนี้ (31 ส.ค.2565) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมด้วย นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวผลการดำเนินงานระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค.2565
ทำผิด 260 เรื่อง แต่ลงโทษได้แค่ 118 ราย
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ช่วงระหว่าง 7 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติลงโทษทางวินัย แก่ผู้ถูกกล่าวหารวม 260 เรื่อง เพื่อส่งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนพิจารณาโทษทางวินัย
พบว่ามีการพิจารณาลงโทษทางวินัยแค่ 118 ราย ได้แก่ ลงโทษผิดวินัยร้ายแรง 84 ราย ผิดวินัยไม่ร้ายแรง 34 ราย ส่วนที่เหลือมีมติไม่ลงโทษทางวินัย 142 ราย
บุคคลที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัย แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ลงโทษทางวินัย 142 ราย พบว่า อยู่ทำงานจนเกษียณ หรือลาออกจากตำแหน่ง 74 ราย และไม่ถูกตัดสินโทษทางวินัยเลยจนถึงปัจจุบัน 39 ราย
ลงโทษไม่ได้เพราะกฎหมายแย้งกัน
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย ที่ยังไม่มีทางออก เนื่องจากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ป.ป.ช.พิจารณาขัดหลักข้อกฎหมาย ในเรื่องการไต่สวนทางวินัย
เนื่องจากตามกฎหมายเดิม 5 ฉบับ ยังไม่มีการแก้ไขประเด็นนี้ แต่ในปัจจุบันมีการแก้ไขทั้งหมดแล้ว แต่ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ ทำให้มีการทำเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความ โดยท้ายที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วว่า ไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ แต่ทาง ป.ป.ช.เตรียมจะยื่นเรื่องเพื่อต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป
เรื่องนี้มีปัญหามาก เพราะมีความเห็นทางกฎหมายไม่สอดคล้องตรงกัน เราเคยมีความเห็นแย้งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เพราะมีความเห็นแนวลงโทษไม่ตรงกัน
อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันติดตาม เพราะ ป.ป.ช.มีการชี้มูลผิดทางวินัยไปแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงทำงานอยู่หน่วยราชการเดิมอยู่ ทำให้มีชาวบ้านหลายสงสัย
ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว-ศาลตัดสินแล้ว แต่ต้นสังกัดเฉย
นายภูเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ติดขัดทางข้อกฎหมาย เป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสภาต้องช่วยกันแก้ไขโดยด่วน เพราะหลายเรื่อง ป.ป.ช.วินิจฉัยชี้มูลไปแล้ว ศาลยุติธรรมพิพากษาว่ามีความผิดในคดีอาญาไปแล้ว แต่ทำไมต้นสังกัดถึงพิจารณาข้อเท็จจริงแตกต่างออกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติสั่งการเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทั่วประเทศในเรื่องคดี เพราะคนทำงาน ทำข้อเท็จจริงเสนอไปแล้วว่า กรณีส่งเรื่องแล้ว ติดขัดอะไร อาจพิจารณาจากที่ศาลยุติธรรมพิพากษาว่าผิด แต่ต้นสังกัดอาจมีความเห็นต่างในเรื่องข้อเท็จจริงตรงนี้ ต้องช่วยกันดู
บางเรื่อง ป.ป.ช.ใช้ระยะเวลา ใช้ทรัพยากรลงไปไต่สวนข้อเท็จจริง พอดำเนินการแล้ว ข้อเท็จจริงยุติแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด แต่เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมถึงลงโทษไม่ได้ ตรงนี้ต้องช่วยกันตรวจสอบ
ในช่วงท้าย นายนิวัติไชย กล่าวถึงโครงการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแห่งชาติ (CDC) ว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 2565 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 371 เรื่อง ในอนาคตสำนักงาน ป.ป.ช. จะมีความร่วมมือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ในการรับเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต
รวมทั้งประสานกับหน่วยงานทุกแห่ง เพื่อที่จะดูว่าหน่วยงานไหนตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพื่อลดความซ้ำซ้อน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในการแก้ไขของหน่วยงานใด