วันนี้ (5 ก.ย.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดผลทดสอบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ในคนที่เคยรับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี หรือคนที่เคยปลูกฝีด้วยการตรวจเลือด ผลออกมาเป็นค่าไตเตอร์ ซึ่งค่าที่ป้องกันฝีดาษลิงได้ ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 32
จากการทดสอบในอาสามัครจำนวน 30 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ต่อสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ทั้งสายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2 พบว่า กลุ่มอายุ 45-54 ปี ไม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันได้ ทั้งหมดมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 กลุ่มอายุ 55-64 ปี มี 2 คน มีภูมิคุ้มกันป้องกันได้ ส่วนอีก 8 คนไม่มีภูมิคุ้มกัน กลุ่มอายุ 65-74 ปี ไม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันได้
สรุปคืออาสาสมัคร 30 คน มี 28 คน ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิง มี 1 คน มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 คนมีภูมิคุ้มกันต่อทั้งสายพันธุ์ B.1 และ A.2
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ผลทดสอบที่ออกมาสรุปค่อนข้างชัดเจนว่าการปลูกฝีมากว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ 28 คน ป้องกันฝีดาษลิงไม่ได้ มีภูมิขึ้นแค่เล็กน้อย มีเพียง 2 คน ที่ป้องกันได้แบบปริ่ม ๆ ดังนั้นหากนำวัคซีนฝีดาษที่เก็บโดยองค์การเภสัชกรรม ที่เป็นวัคซีนรุ่นหนึ่งนำมาใช้ คงต้องชั่งน้ำหนักดูว่าคุ้มหรือไม่ และวันนี้ไม่มีเชื้อฝีดาษคนแล้ว มีแต่ฝีดาษวานรที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่สัมผัสใกล้ชิดกันเท่านั้นถึงติดได้
วัคซีนฝีดาษลิงยังไม่จำเป็นต้องฉีดในคนทั่วไป เพราะการติดเชื้อไม่ได้รวดเร็ว ผ่านมาหลายเดือนมีผู้ป่วย 7 คน มีเหตุที่มาที่ไปชัดเจน สัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดแบบโควิด โอกาสแพร่กว้างขวางไม่มี
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงยังไม่มีใครทำ วัคซีนที่นำมาใช้คือวัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วข้ามไปกันฝีดาษลิงได้ เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ขณะนี้แบบปลูกฝีไม่มีแล้วเพราะเสี่ยง ขณะนี้มีวัคซีนรุ่น 3 ของ JYNNEOS ซึ่งสหรัฐฯ และยุโรป อนุมัติให้ใช้ได้ วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ใช้วัคซีนแค่ 0.1 มิลลิลิตร และอีกวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมัน ใช้วัคซีน 0.5 มิลลิลิตร โดยไทยซื้อมา 1,000 โดส ฉีด 2 ครั้งได้ 500 คน ส่วนจะฉีดใครอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการตั้งหลักเกณฑ์