วันนี้ (13 ก.ย.2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติปรับขึ้นค่าแรง โดยระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ ก.แรงงาน เสนอให้ ครม.พิจารณาตามข้อเสนอของไตรภาคีที่ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และปลัดกระทรวงฯ ซึ่ง ครม.ก็มีมติเห็นชอบโดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้
นายสุชาติ ยังกล่าวว่า ความเห็นชอบของไตรภาคีเป็นเอกฉันท์ สัดส่วนการขึ้นอยู่ที่ 5 - 8 % แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 % โดย ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิดระบาด ได้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ม.ค.2563 หลังจากนั้นเกิดโควิด จึงไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงมาตลอด 2 ปี
โดยปกติจะมีการปรับขึ้นค่าแรงราว 1-2 % แต่ครั้งนี้รวบยอดมาโดยขึ้นราว 5 % โดยอิงกับตามภาวะเงินเฟ้อ
รมว.แรงงาน ยังกล่าวว่า หลายคนมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการหรือไม่ ซึ่งผมได้คุยกับนายจ้างแล้วว่า เป็นการประคับประคองลูกจ้างให้อยู่รอด นี่คือสิ่งที่นายจ้างมีความต้องการ ซึ่งต้องการเห็นลูกจ้างมีรายได้ มาช่วยพยุงค่าครองชีพ
ทั้งนี้ ฐานของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราว 5 % เป็นสัดส่วนที่นายจ้างรับได้ ซึ่งไม่ได้สูงเกินไป จริง ๆ แล้วถ้าลูกจ้างอยู่รอด นายจ้างก็จะอยู่รอด
นายสุชาติ ยังกล่าวว่า ครม.ยังหารือในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปรับตามภาวะเงินเฟ้อ โดย รมว.คลัง จะควบคุมและดูแลในส่วนนี้ ส่วน กรณีพลังงาน ก็มีมาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย
การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามกลไก ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยและพลังงาน รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการลดค่าครองชีพซึ่งก็จะช่วยกัน และผมเองที่ขอให้มีการขึ้นค่าแรง ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ก็เพราะราคาสินค้าขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว หากให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค.66 ก็จะมีการปรับราคาสินค้าขึ้นต่ออีกรอบ ดังนั้นจึงต้องขึ้นค่าแรงทันที
รมว.แรงงาน ยังกล่าวว่า ขอให้ทางสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการช่วยเหลือนายจ้าง ประมาณ 2-3 เดือน ส่วนข้อกังวลว่า การลดเงินสมทบดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเงินชราภาพนั้น ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ เช่น การลดเงินสมทบไปราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน 20,000 ล้านบาท นั้นไม่ได้นำไปลงทุน และดอกเบี้ยจะเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากจึงใช้ มติ ครม.โยกเงินจากส่วนอื่นมาเติม
ในส่วนของเงินชราภาพโดยจะให้กองทุนประกันสังคมทำเรื่องชี้แจงจากการลดเงินสมทบว่า ไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกันตน ตาม ม.33
นายสุชาติ ยังกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขึ้นทั้งประเทศ ทั้งหมด 9 กลุ่ม เช่นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.ระยอง ขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท/วัน ขณะที่ ค่าแรงขั้นต่ำ กทม.ปรับขึ้นอยู่ที่ 353 บาท/วัน โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ ปรับขึ้นประมาณ 18 บาท ไม่ใช่ 2-3 บาท ซึ่งต้องชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อได้
นายสุชาติ ยังกล่าวว่า ตนเองได้พูดคุยกับ รองประธานสภาหอการค้าไทย ซึ่งก็บอกว่า รับได้ในส่วนนี้และมองว่า การขึ้นค่าแรงเป็นส่วนที่ลูกจ้างได้ประโยชน์ โดยขอให้รัฐบาลดูแลในเรื่องของพลังงานและอัตราดอกเบี้ยมากกว่าซึ่งรัฐบาลได้ดูแลอยู่แล้วทั้งการชดเชยและอุดหนุน
เชื่อว่านายจ้างรับได้กับการขึ้นค่าแรงครั้งนี้เพราะอยู่ที่ราว 5 % สมมติว่าไม่มีการขึ้นค่าแรงแล้วลูกจ้างต้องพบภาวะเงินเฟ้อ ของที่แพงขึ้น ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ ท่านก็ต้องหาลูกจ้างใหม่ ในส่วนนี้เป็นเงินที่ไม่เยอะเพราะราว 5 %
ทั้งนี้ แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไร จะลดค่าครองชีพให้ผู้ใช้แรงงานอย่างไร เช่น สามารถซื้อบ้านในราคาที่ถูก ค่าครองชีพลดลง จึงจะอยู่ได้ ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมีความสุขในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในวันนี้