โรคติดเชื้อจากไวรัส RSV คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
อาการ
ทารกแรกเกิด – 2 ขวบ :เด็กทารกมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะป่วยถึงขั้นรุนแรง จะมีอาการซึม ร้องกวน กินได้น้อย หรือหายใจลำบาก อาจถึงขั้นหยุดหายใจชั่วขณะได้ มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างร่วมด้วย เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ กล่องเสียงอักเสบอุดกั้น เป็นต้น
2 ขวบขึ้นไป : อาการจะไม่รุนแรงมาก สามารถหายได้เอง การติดเชื้อจะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ไข้ต่ำ
ผู้ใหญ่ : สามารถติดเชื้อ RSV ได้และได้หลายครั้ง การติดเชื้อซ้ำมักมีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง การแยกอาการจากโรคหวัดทั่วไปหรือไซนัสอักเสบค่อนข้างทำได้ยาก หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการเลย
การติดต่อ
ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองน้ำลายจากการไอ จาม หากผู้ป่วยได้รับเชื้อ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน ในการฟักตัวของโรค ช่วง 2 – 4 วันแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อพ้นระยะเวลาฟักตัว จะแสดงอาการออกมามากขึ้น เช่น ทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ จนเกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบตามมา
ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการรุนแรงร่วม เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด และมีเสมหะในลำคอ
อาการที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากในเด็ก คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
ไวรัส RSV สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายมาก และทำให้เกิดการระบาดเป็นหย่อมๆ ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน หรือในชุมชน อัตราการแพร่ระบาดของโรคอยู่ที่ 1:5 – 1:25 นั่นคือ ผู้ป่วย 1 คน จะส่งต่อโรคไปยังผู้ป่วยรายใหม่ได้ 5-25 คน
ไวรัส RSV สามารถอยู่บนผิวหนังภายนอก เช่น บนมือ นิ้ว ได้นานถึง 25 นาที และอยู่บนผิววัตถุทั่วไป เช่น โต๊ะ หรือลูกบิดประตู ได้หลายชั่วโมง
นอกจากนั้น ฤดูกาล ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการระบาดของไวรัส RSV แต่การระบาดจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก ในประเทศไทย การระบาดจะพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากไวรัสจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่อากาศร้อนชื้น และแพร่กระจายได้ไวเพราะไปกับน้ำฝนและลม
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการแทน เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวข้น ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านกระบอกพ่นยาเด็ก เคาะปอด และดูดเสมหะออก เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค
ในบางประเทศมีการให้ ยา “ไรบาไวริน” ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสใช้ในผู้ป่วยเด็ก แต่ยังมีข้อจำกัดในการใช้อยู่มาก จึงไม่เป็นที่แนะนำ
โดยธรรมชาติ โรคติดเชื้อไวรัส RSV ร่างกายผู้ป่วยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ
การป้องกัน
ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลความสะอาดที่อยู่อาศัยโดยรอบให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ การล้างมือจะช่วยลดเชื้อโรคที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง
โดยปกติแล้ว ในผู้ใหญ่มักจะไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้หากไม่ล้างมือให้สะอาด ก็อาจเป็นพาหะที่นำเชื้อไปติดเด็กเล็กได้อีกเช่นกัน
หากเด็กเล็กมีอาการป่วย ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ดูแล ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ หากลูกไปโรงเรียน และมีอาการป่วย ควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่น
วัคซีน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวใดผ่านการรับรองว่าสามารถใช้ป้องกันไวรัส RSV ได้ เพราะมีอุปสรรคบางปัจจัยอยู่ เช่น ปัจจัยจากทารกเอง ทั้งระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ และการมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่อยู่ในตัว ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนในทารกเป็นไปอย่างยากลำบาก
ที่มา : https://www.medparkhospital.com/content/rsv
https://www.bangkokhospital.com/content/respiratory-syncytial-virus
https://th.wikipedia.org/wiki/ไวรัสอาร์เอสวี