ทุกวันหลังเสร็จสิ้นจากภาระกิจหลัก นายสุพจน์ ใจรวมกูร ชาวบ้านชุมชนประตูต้นผึ้งท่านางรอย ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง จะตีเกือกม้า ส่งขายให้กับลูกค้าที่สั่งไว้ เพื่อนำไปใส่ให้กับม้าที่เลี้ยงไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถม้า ที่คอยให้บริการนักท่องเที่ยวใน จ.ลำปาง
นายสุพจน์ เป็นช่างตีเกือกม้าที่ยังเหลืออยู่เพียงคนเดียวของ จ.ลำปาง ที่ยังยึดอาชีพนี้ เพราะผู้เลี้ยงม้าส่วนใหญ่สั่งเกือกม้าสำเร็จรูปมาใช้ ทำให้อาชีพนี้กำลังจะเลือนหายไป ซึ่งหนึ่งในแนวคิดหลักของสุพจน์ คือ ต้องการอนุรักษ์อาชีพนี้ เพราะผูกพันกับม้ามาตั้งแต่เด็ก แม้จะมีรายได้จากการทำเกือกม้าแค่อันละ 100 บาท ม้า 1 ตัวใช้ 4 อันก็แค่ 400 บาทเท่านั้น
สำหรับเกือกม้า เปรียบเสมือนรองเท้าของม้า มีความสำคัญในการดูแลรักษาเท้าของม้า เพราะแต่ละวันต้องวิ่งฝ่าสายฝน แสงแดด และพื้นปูนที่แข็ง และเพื่อต่อยอด ให้คนรู้จักเกือกม้ามากขึ้น นอกจากทำให้ม้าแล้ว ยังพลิกแพลงทำเป็นของที่ระลึก เพื่อให้อยู่ได้ ในภาวะที่เชื้อโควิด-19 ยังแพร่ระบาด และค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
รถม้า ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ จ.ลำปาง เป็นยานพาหนะในการเดินทางของคนยุคสมัยก่อน ช่วงปี 2458 ได้มีการวางรางรถไฟขึ้นมาจนถึงลำปาง รถม้าจึงมีบทบาทสำคัญด้วยการเป็นยานพาหนะรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟจังหวัดลำปางเข้าสู่ตัวเมือง
หลังจากนั้นรถม้าจึงเริ่มมีแพร่หลายทั้งในลำปาง และตามเมืองหลักต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไปความเจริญของเทคโนโลยีการคมนาคม ทำให้รถม้าค่อยๆเลือนหาย เหลือแต่เพียงที่ จ.ลำปาง เท่านั้นที่ยังคงใช้รถม้าเป็นยานพาหนะจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน จ.ลำปาง มีรถม้าให้บริการนักท่องเที่ยวกว่า 100 คัน แต่ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แม้จะกลับมารับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่ด้วยค่าครองชีพสูงและเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จึงมีผู้ใช้บริการน้อย กลุ่มคนขับรถม้าจึงยังต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา