ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฝนตกหนัก! "ประตูช้างเผือก" กำแพงเมืองเก่าเชียงใหม่ถล่ม

ภัยพิบัติ
25 ก.ย. 65
09:56
4,383
Logo Thai PBS
ฝนตกหนัก! "ประตูช้างเผือก" กำแพงเมืองเก่าเชียงใหม่ถล่ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เชียงใหม่" ฝนตกหนักสะสม 106.9 มม.เสี่ยงน้ำป่าหลากจากดอยสุเทพ ไหลท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำเมืองเชียงใหม่ พบกำแพงเก่าเมืองเชียงใหม่ บริเวณประตูช้างเผือกพังถล่มเสียหายหนัก กรมศิลปากร กำลังเข้าตรวจสอบ

วันนี้ (25 ก.ย.2565) กรมทรัพยากรน้ำ โดยส่วนอุทกวิทยาที่ 1 เชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ได้รับรายงานจากสถานีเตือนภัยล่วงหน้าที่บ้านดอยปุย ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ว่ามีปริมาณฝนตกสะสม 24 ชั่วโมงสูงถึง 84 มิลลิเมตร อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่

ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ายังมีเมฆฝนปกคลุมและฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่วนอุทกวิทยาที่ 1 เชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 กรมทรัพยากรน้ำ จึงแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

 

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ภาคเหนือมีฝนตกหนักมากใน จ.เชียงใหม่ และตาก ปริมาณฝนวัดได้สูงสุด 106.9 มม. บริเวณ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และ อ.สามเงา จ.ตาก 102.9 มม. ส่วนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ฝนตกหนัก วัดได้สูงสุด 90 มม.บริเวณน้ำตกวชิรธาร

ประตูช้างเผือกพังถล่มเสียหาย 

ทั้งนี้พบว่าฝนที่ตกหนักทั้งคืน ทำให้กำแพงเมืองเก่าเชียงใหม่ บริเวณประตูช้างเผือกถล่ม สภาพอิฐกระจัดกระจาย นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวสำรวจพบอีกมุมจุดที่ดินกำแพงเมืองเชียงใหม่ บริเวณประตูช้างเผือก พบมีดินสไลด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อิฐพังถล่มลงมา

ทั้งนี้ทางนักโบราณคดี กรมศิลปาการ และเทศบาลนครเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการเข้าตรวจสอบหาสาเหตุต่อไป

 

คาดดินอุ้มน้ำมากทำประตูทรุด

นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ากำแพงเมืองที่พังลงมา เป็นกำแพงเมืองที่ไม่ได้ก่อเชื่อมต่อกับป้อมประตูเมือง ส่งผลให้ดินที่อยู่ภายใน อุ้มน้ำไว้เป็นจำนวนมากจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดเหตุการณ์ขึ้น

กำแพงเมืองและประตูเชียงใหม่แห่งนี้ ผ่านการบูรณะมาแล้วกว่า 60 ปี ถือว่ามีความเก่าในระดับหนึ่ง หลังจากนี้เตรียมค้ำยันต์ตามประตูเมืองและกำแพงเมืองเก่าต่างๆ ที่มีความยาวกว่า 6.5 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

สำหรับกำแพงเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นเมืองหลวงของล้านนา โดยขั้นแรกได้ขุดคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร และนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนั้นขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง

 

สำหรับประตูช้างเผือก เป็นประตูทางทิศเหนือ เป็นประตูสำคัญสุดของเมือง เป็นส่วนหัวของเมือง เวลาจะออกรบ หรืองานมงคลเมือง จะใช้ประตูนี้ เป็นทิศมงคลของเมืองสังเกตบ้านเรือ วัดสำคัญ ๆ จะตั้งบริเวณประตูนี้ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง