นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง แถลงแผนป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 หลังยุบ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป และใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อบริหารสถานการณ์
นายอนุทิน กล่าวว่า ภาพรวมมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ
แม้ปรับให้เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังแต่การเข้าถึงการรักษายังคงเป็นไปตามสิทธิ ผู้ป่วยอาการฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาได้ทุกที่
ทั้งสถานพยาบาลรัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ยืนยันความพร้อมการสำรองยา วัคซีน และเตียงรองรับสถานการณ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าปี 2566 อาจพบการระบาดในลักษณะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ระยะเฝ้าระวัง แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ เฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาล การระวังแบบกลุ่มก้อน เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงนอกสถานพยาบาล และเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์
ขณะเดียวกันแนะนำให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ส่วนคนไม่มีอาการป่วยไม่ต้องตรวจ และแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท
สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน ควรมารับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ขณะนี้มีวัคซีนสำรอง 42 ล้านโดส ใช้ได้อย่างน้อย 6 เดือน
ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะพิจารณาจากปัจจัยว่ามีเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ รวมทั้งการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่
ส่วนยารักษา ขณะนี้มีฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 3 เดือน โมลนูพิราเวียร์ คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 4 เดือนครึ่ง เรมเดซิเวียร์ คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด เพียงพอใช้ครึ่งเดือน และมีแผนจะจัดซื้อฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 3 แสนขวด