วันนี้ (12 ต.ค.2565) รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์กระแส ส.ส.ย้ายพรรคที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ผ่านรายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ของไทยพีบีเอส โดยระบุว่า การเมืองไทยไม่ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะบรรดา ส.ส.ที่ย้ายพรรค เป็นพฤติกรรมแบบเดิมที่มีมาตั้งแต่ปี 2490 บรรดานักการเมืองโดยส่วนใหญ่มุ่งเล่นการเมืองเพื่อที่จะแสวงหาโอกาสเป็น ส.ส. และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นหลัก จึงย่อมแสวงหาพรรคการเมืองที่จะนำพาให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองที่มีหลักคิด มีอุดมการณ์ มีจุดยืนที่มั่นคงในสังคมไทย ยังมีไม่มากนัก
เมื่อไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีจุดยืน หลักการก็คือไปอยู่พรรคไหนก็ได้ ที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง และมีโอกาสได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
รศ.พิชาย วิเคราะห์ถึงความนิยมของพรรคพลังประชารัฐว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐมีวิกฤต 2 อย่าง วิกฤตแรกคือความตกต่ำของคะแนนนิยม ซึ่งเชื่อมโยงกับความตกต่ำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และความตกต่ำของคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐเข้าด้วยกัน และวิกฤตนี้ยังสะสมมากับการบริหารประเทศของรัฐบาล ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมทั้งปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ไม่ดีขึ้น จึงส่งผลให้คะแนนนิยมตกต่ำ
วิกฤตที่ 2 คือการช่วงชิงกันของแกนนำภายในพรรค ระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเดิมที พล.อ.ประยุทธ์ สามารถควบคุมการนำภายในพรรคผ่าน พล.อ.ประวิตร ได้ทั้งหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป พล.อ.ประวิตร เป็นนักการเมืองมากขึ้น เป็นปกติที่จะมีความปรารถนาที่จะดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง คือ นายกรัฐมนตรี จึงอาจมีความคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตัวเองอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อในนามพรรค
ทั้งนี้ ภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังมีอีกกลุ่มที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นั่นคือ กลุ่มสามมิตร ซึ่งกลุ่มนี้จะคอยเฝ้าดูว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วว่ายาก ก็อาจจะไปอยู่พรรคอื่นหรืออาจจะไปตั้งพรรคใหม่ก็ได้
เปิดสูตรเปลี่ยนขั้วทางการเมือง
รศ.พิชาย ระบุว่าหากจะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มี 2 สูตรที่จะนำไปได้คือ สูตรที่ 1 พรรคเพื่อไทย ต้องรวมกับพรรคก้าวไกล พรรครวมประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย ให้มีคะแนนรวมกันเกิน 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ต้องดึงคะแนนมาให้ได้อย่างน้อย 280-300 เสียง จึงจะตั้งรัฐบาลได้ทันที
สูตรนี้เกิดขึ้นค่อนข้างยาก ๆ
สูตรที่ 2 พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้คะแนนเกิน 250 เสียง แต่เมื่อรวม 4 พรรค ยังไม่ถึง 276 เสียง สูตรนี้ต้องอาศัยบางพรรคที่ร่วมรัฐบาลปัจจุบัน และหากได้ ส.ว.ด้วย ก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลมากขึ้น
สูตรนี้พรรคเพื่อไทยอาจจะได้คะแนนเลย 230-250 เสียง ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะดึงพรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตร เข้ามาเป็นพันธมิตรในการร่วมรัฐบาล เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร สามารถคุมเสียง ส.ส.ได้ เมื่อ 2 พรรคนี้รวมกัน คะแนนจะได้เกิน 375 เสียงแน่นอน แต่ปมปัญหามีอยู่ว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ จะมาจับมือกันก็น่าจะยาก เพราะพรรคเพื่อไทยคงจะไม่ยินดีมากนัก แต่ถ้าเป็น พล.อ.ประวิตร อาจจะมีการพูดคุยกันได้มากกว่า เพราะมีการถนอมน้ำใจไมตรีกันอยู่มากพอสมควร
สูตร 2 เป็นสูตรที่ต้องพึ่งพากัน ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ พล.อ.ประวิตร เพื่อให้ได้เข้าไปเป็นรัฐบาล สูตรนี้เป็นสูตรที่เป็นไปได้สูง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เพื่อไทย" ปฏิเสธข่าวดีลลับ "ธรรมนัส" นำ 14 ส.ส.เข้าพรรค
จับตาดีลลับ ส.ส.เศรษฐกิจไทย ย้ายซบ "เพื่อไทย"
บทวิเคราะห์ : 2 ป.ทำ พปชร.แตกรัง