เกิดอะไรขึ้นกับ มาห์ซา อามินี
“มาห์ซา อามินี” หญิงสาวชาวอิหร่านวัย 22 ปี เธอและครอบครัวเดินทางมาที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เพื่อเยี่ยมญาติ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2565 จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ปอยผมเล็กๆได้หลุดออกจาก “ฮิญาบ” หล่นลงมาบริเวณหน้าผากเธอ และเธอก็ถูก “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมในข้อหา “เธอคลุมฮิญาบไม่เรียบร้อย”
ตำรวจพาตัว อามินี ไปยังสถานที่คุมขัง และหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ครอบครัวของอามินีได้รับการแจ้งข่าวจากตำรวจว่า ลูกสาวของเขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการโคม่า ตำรวจแจ้งว่า อามินี มีอาการ “หมดสติและหัวใจล้มเหลว”
อามินี อยู่ในภาวะสมองตาย มีการพยายามช่วยเหลือเธอทุกหนทาง แต่สุดท้ายเธอมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกเพียง 48 ชั่วโมงหลังจากเข้าโรงพยาบาล ระหว่างที่รักษาตัวที่โรงพยาบาล ครอบครัวสังเกตเห็นร่างกายของ อามินี มีรอยฟกช้ำเต็มไปหมด แต่ทางตำรวจก็ยังยืนยันว่า ไม่ได้ทำร้ายเธอเลย และส่งตัวเธอมาที่โรงพยาบาลเพราะเธอหมดสติขณะคุมขังเพียงเท่านั้น
ความไม่พอใจเดิมที่เพิ่มขึ้น
ครอบครัวอามินีออกมาปฏิเสธทันที โดยบอกว่า อามินี เป็นหญิงสาวที่ร่างกายแข็งแรง ไม่ได้ป่วย และเธอไม่เคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก่อนเลย สอดคล้องกับรายงานจาก รักษาการข้าหลวงใหญ่องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ “นาตา อัล นาชิฟ” บอกว่า หลังจากที่ อามินี ถูกจับกุม เธอถูกทำร้ายด้วยกระบอง และศีรษะเธอไปกระแทกกับรถตำรวจ และยังมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่เผยให้เห็นว่า อามินี ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายจริงๆ ก่อนเดินทางเข้าสู่สถานที่คุมขัง
เรื่องนี้ทำให้คนอิหร่านยิ่งไม่พอใจการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น จากที่ช่วงต้นเดือนกันยายน ชาวอิหร่านเริ่มออกมาประท้วงการทำงานของรัฐบาล “อยะตุลลอห์ อาลี คาเมเนอี” ที่บริหารราชการได้ไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในอิหร่าน พอกลางเดือน ก็มาเกิดเหตุการณ์การทำร้ายประชาชน ด้วยเหตุผลที่ไม่สมควร
ฟางเส้นสุดท้ายของประชาชนกับรัฐบาลอิหร่าน
หลังจากการจากไปของ อามินี ในวันที่ 16 ก.ย. วันต่อมา ครอบครัวของเธอ พาร่างของ อามินี กลับมาทำพิธีศพที่เมืองเคอร์ดิสถาน บ้านเกิดของเธอที่อยู่ทางตะวันตกของอิหร่าน มีผู้เข้าร่วมพิธีราว 1,000 คน
พิธีศพของ อามินี ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะงานนี้ไม่มีการช่วยเหลือหรือเยียวยาใดๆ จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเลย และนี่คือ ฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ทั้งครอบครัวของ อามินี และประชาชนอิหร่านที่รู้เรื่องนี้ ลุกขึ้นมาประท้วงกับความไม่แยแสของรัฐบาลอิหร่าน
กลุ่มผู้ประท้วงกระจายตามเมืองต่างๆของอิหร่าน มีการปะทะเกิดขึ้นระหว่างประชาชนและตำรวจ ประชาชนขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจ ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าหยุดการประท้วง หญิงอิหร่านหลายคน เลือกจะดึงฮิญาบออกและตัดผมเพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์
เรื่องนี้เอง แม้กระทั่งกลุ่มนักอนุรักษ์ศาสนาของอิหร่าน ก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยที่ตำรวจกระทำการเกินไป เพียงเพราะปอยผมเล็กๆ ที่หลุดจากฮิญาบ
การประท้วงที่เริ่มต้นจากความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาล บวกกับการกระทำที่ประชาชนมองว่าเกินกว่าเหตุกับ หญิงวัย 22 ปี จึงเป็นเหตุการณ์การประท้วงที่ยาวนานเกือบ 1 เดือน และยังกระจายสู่หลายประเทศทั่วโลก ที่เรียกร้องเรื่องของศีลธรรม ข้อบังคับชาวมุสลิม เรื่องการแต่งตัวให้มิดชิด ที่เหมือนเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงเรื่องการแต่งตัว
สตรีมุสลิมกับฮิญาบ
“กฎหมายชารีอะห์ (Sharia / Shariah)” เป็นกฎหมายที่มีเฉพาะประเทศที่ใช้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ กฎหมายนี้ถูกสร้างโดยอิงตามหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ยึดถือตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ในรัฐอิสลามจะมีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มงวด และบทลงโทษก็จะแตกต่างกันไปตามความร้ายแรงของความผิด
นอกจากนั้น การบังคับใช้กฎหมายอาจครอบคลุมถึง คนต่างศาสนาที่เข้ามาในแผ่นดินรัฐอิสลามด้วย เช่น หากเดินทางท่องเที่ยวในอิหร่าน ก็ต้องหาผ้ามาคลุมศีรษะให้มิดชิด รวมไปจนถึงการแต่งตัวให้มิดชิดด้วยเช่นกัน
แต่การบังคับใช้อาจจะไม่เข้มงวดเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องของความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา กฎหมายชารีอะห์ จึงไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นเพียงข้อกำหนด สำหรับคนต่างศาสนาเท่านั้น
การสวมฮิญาบในไทยนั้น ยังไม่ถือว่าเข้มงวดมากเท่ากับรัฐอิสลาม หญิงมุสลิมบางคนในไทย สามารถแต่งตัวเฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้องสวมฮิญาบ การสวมฮิญาบและแต่งตัวคลุมร่างกายทั้งหมด จะทำต่อเมื่อเข้าพิธีต่างๆในศาสนาเท่านั้น
กรณีการประท้วงของ อามินี ในครั้งนี้ ถูกมองได้ว่า การพยายามรักษาจารีตประเพณีอันดีงามโดยอิงตามหลักคำสอนศาสนา ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายแต่อย่างใด หากแต่การสร้างกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ และดุลยพินิจของผู้ใช้กฎหมายนั้น เหมาะสมในยุคปัจจุบันนี้หรือไม่
อามินี อาจจะเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ส่งผลให้เป็น “สายธารแห่งความหวัง” ของหญิงมุสลิมอีกหลายคนทั่วโลก ในการปรับปรุงกฎหมายการแต่งกายของหญิงมุสลิม ให้เหมาะสมกับโลกในยุคปัจจุบันก็เป็นได้
ที่มา : BBC,Reuters,Wikipedia