กระแสการย้ายพรรคของบรรดานักการเมือง ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในรายการมองการเมืองช่วง "ทั่วถิ่นการเมือง" หัวหน้าศูนย์ข่าวของไทยพีบีเอส ในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้วิเคราะห์ถึงกรณีดังกล่าว
"ธรรมนัส" ยังไม่ชัดเจนย้ายกลับ "เพื่อไทย"
นายวิวัฒน์ชัย สมคำ หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคเหนือ กล่าวว่า กระแสข่าวการย้ายกลับบ้านเก่าพรรคเพื่อไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ยังคงได้รับการพูดถึงในพื้นที่ โดย ร.อ.ธรรมนัส จะยังลงแข่งขันในพื้นที่ จ.พะเยา แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะกลับมายังพรรคเพื่อไทย หรือไม่
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในการลงพื้นที่พบปะกับสมาพันธ์ครู ใน จ.เชียงใหม่ บอกว่า ยังไม่ได้รับการติดต่จาก ร.อ.ธรรมนัส แต่อย่างใด
นายวิวัฒน์ชัย ยังกล่าวว่า กรณีการย้ายกลับพรรคเพื่อไทยของ ร.อ.ธรรมนัส ยังมีกรณีที่ทับซ้อนหลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไปแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ เขต 3 ที่ทับซ้อนกับพรรคเศรษฐกิจไทย และ จ.พิจิตร เขต 1 ที่จับจองโดย นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร ที่จะลงในพื้นที่ดังกล่าว
นพ.ชลน่าน ยังระบุว่า เรื่องของพื้นที่ทับซ้อน จะยังไม่มีการพูดถึง แต่เมื่อถึงเวลานั้นจะใช้กระแสของประชาชนเป็นตัววัดว่า จะเลือกคนใหม่ หรือ คนที่พรรคประกาศไว้แล้ว
ขณะที่ กรณี ร.อ.ธรรมนัส จะช่วยให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ หรือ จะทำให้ สะดุด ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนนั้นจะเป็นการเติมเต็มทำให้สามารถจับจองพื้นที่ภาคเหนือได้เกือบครบทุกพื้นที่หากไม่เข้าไปทับซ้อน ซึ่งในเขต 3 ของ จ.พะเยา จะต้องมีใครย้ายออกไปลงในเขต 1 เพราะ ร.อ.ธรรมนัส เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือ เลื่อนไปเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พรรคเพื่อไทยยังประกาศไม่ครบ
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น พรรคสังคมใหม่ ที่จะมีการคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ ขณะที่ พรรคสร้างอนาคตไทย จะลงพื้นที่ จ.ลำพูน พูดคุยกับผู้ปลูกลำไย หลังได้รับผลกระทบราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา
ส.ส.กลุ่ม "ธรรมนัส" ชนเจ้าของพื้นที่เดิมในอีสาน
ด้านนายปราการ แสนอุบล หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ในวันนี้กระแสการย้ายพรรค อยู่ในช่วงของการต่อรอง แต่หากเกิดขึ้นไปการย้ายพรรคก็ต้องไปเป็นกลุ่มก้อน หากไปก้อนใหญ่ ซึ่งก็มีคำถามคือ หากไปจะอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
รวมถึงหากลง ส.ส.เขต จะไปชนกับเจ้าถิ่นเดิมหรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสาน รวม 84 เก้าอี้เดิม ซึ่งหากกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส จะกลับมาพรรคเพื่อไทยจะชนกับของเดิมแน่นอน ซึ่งจะเป็นปัญหา
ร.อ.ธรรมนัส จะกลับมาพรรคเพื่อไทย จะชนกับเจ้าของเดิมแน่นอน อันนี้จะเป็นปัญหา เจ้าของเดิมเขาคงไม่ถอย และเจ้าใหม่ที่เข้ามาจะมีพื้นที่อยู่สักเท่าไหร่ ถ้านับจาก ส.ส.ที่จะเพิ่มมาอีก 16 เก้าอี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ ในตำแหน่งที่เก้าอี้ว่าง แต่ถ้าจู่ ๆ จะเข้ามาก็จะเป็นปัญหาแน่ ๆ
ปัญหาที่ชัดเจนคือ พื้นที่ จ.อุดรธานี ที่บรรยากาศมีการต่อต้าน เช่น กรณีของนายธีระชัย แสนแก้ว ที่ย้ายจากพรรคภูมิใจไทย จะมาลงในนามพรรคเพื่อไทยในเขต 6 ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ลูกของ นายประจวบ ไชยสาส์น ที่ไปอยู่สังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทำให้เป็นพื้นที่ที่คนใหม่จะสามารถมาพื้นที่นี้ได้ แต่มวลชนคนเสื้อแดงก็ไม่เห็นด้วย
จ.อุดรธานี มี 9 เขต จากเดิม 8 เขต พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ประกาศชัดเจนว่าใครจะลง ซึ่งกรณีคุณธีระชัย แสนแก้ว ก็ยังต้องรอมติ กก.บห.พรรคเพื่อไทยว่าจะส่งลงหรือไม่ ยิ่งเจอกระแสต่อต้านจากมวลชนคนเสื้อแดง ก็คงจะลำบาก ว่าสุดท้ายจะเคาะอย่างไร
"ประชาชาติ" หวังรักษาพื้นที่ 3 จว.ใต้
ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ ติชิลา พุทธสาระพันธ์ หัวหน้าศูนย์ข่าวใต้ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าพรรคประชาชาติ จะถูกมองว่าเป็นเจ้าถิ่นเพราะได้มา 6 ที่นั่ง
แต่ก็มีความหวั่นอยู่เหมือนกัน เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่จะเข้ามาแย่งเก้าอี้เหมือนกัน และจากการลงพื้นที่ติดตามทำข่าวพรรคประชาชาติลงพื้นที่ทั้ง กลุ่มผู้นำศาสนา เยาวชน และสตรี
รวมถึงจากการพูดคุยกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าหัวหน้าพรรคประชาชาติ และ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ก็ระบุว่า ยังมีความมั่นใจว่าจะได้ ส.ส.เพิ่มอย่างน้อย 4 ที่นั่ง จากเดิมได้ ส.ส. 6 ที่นั่ง
รวมถึงไม่หวั่นแม้ว่าจะมีการย้ายพรรค โดยนายวันมูหะหมัดนอร์ กล่าวว่า การเมืองที่สกปรก การเมืองที่มีการซื้อเสียง ซื้อ ส.ส.ซึ่งเป็นการทำลายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดยืนที่พรรคประชาชาติ ต้องต่อสู้และชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า หากการเมือง ที่สกปรก ส.ส.เข้าไปเพราะอำนาจเงิน รัฐบาลที่เข้าไปก็ต้องมีการคอรัปชันและโกงเงินของประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ การพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.จำนวน 1 ที่นั่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และในการเลือกตั้งปี 62 เขต 3 จ.ปัตตานี และหวังว่าจะได้ ส.ส.เพิ่มในการเลือกตั้งปี 2566 อย่างน้อย 1 ที่นั่งจากเขต 1 จ.ปัตตานี ในพื้นที่ของ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ค่อนข้างกว้างขวางในพื้นที่ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ลงในระบบบัญชีรายชื่อแล้ว แต่จะลงสมัคร ส.ส.เขตแทน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แกนนำพรรค ได้ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หวังว่าจะได้ ส.ส.เพิ่ม และแนะนำ ส.ส.เต็มรูปแบบ
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยได้ ส.ส.จำนวน 9 ที่นั่งในอดีต และในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เพียง 1 คน จากนายอันวาร์ สาและ
นอกจากนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยิ่งดูยากขึ้นไปอีก กับการที่พรรคประชาธิปัตย์ จะได้ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากครั้งนี้นายอันวาร์ สาและ ประกาศไม่สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปอยู่พรรคใด
ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการ มองว่า ธรรมชาติของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักที่จะเลือกคนมากกว่าพรรคการเมือง จากการสังเกตในอดีต มีกระแสจะอยู่พรรคใดแล้วแต่คนผู้นั้นก็จะได้รับการเลือกเป็น ส.ส.ขณะที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คึกคัก และมีการหาเสียงของหลายพรรคการเมืองในพื้นที่เป็นจำนวนมาก