วันนี้ (18 ต.ค.2565) คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา – อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 141 ล้านบาท
โดยในส่วนของค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง จัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็น 70:30 สัดส่วนเงินกู้คิดเป็นวงเงิน 3,290 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 1,410 ล้านบาท ส่วนค่าจ้างควบคุมงาน 141 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
สำหรับ โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จะช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา – อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที ช่วยพัฒนาเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ และเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ เชื่อมโยงทะเลอันดามัน-อ่าวไทย เชื่อม 3 จังหวัด คือ ตรัง-พัทลุง-สงขลา
ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ให้กับพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปริมาณจราจรของถนนทางหลวงและแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางและในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์ และยังสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ครม. ได้กำชับว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ใกล้เขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งห่างจากพื้นที่โครงการประมาณ 6 กม. และเป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครองโลมาอิรวดี
ในประเด็นนี้ธนาคารโลก จะเป็นผู้ให้กู้ตามโครงการนี้ได้แสดงความห่วงใยมาเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงการคลังจะมีการประสานกับธนาคารโลกและหน่วยงานต่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมในการกำหนดแนวทางป้องกันผลจากโครงการก่อสร้างไม่ให้กระทบสัตว์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองต่อไป
นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 2.2 กม. (ความยาวสะพาน 1.92 กม. และความยาวถนนต่อเชื่อม 280 เมตร) ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,854 ล้านบาท
เป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 54 ล้านบาท โดยในส่วนของวงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ
อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็น 70:30 คิดเป็นเงินกู้วงเงิน 1,260 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 540 ล้านบาท ส่วนค่าจ้างควบคุมงาน 54 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
เป็นการก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่ ต.เกาะกลาง และเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จะต้องผ่านทางหลวงหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์สามารถบรรทุกรถยนต์ได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า ผู้โดยสารจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่าในการเดินทาง ประกอบกับในบางช่วงเวลา จะมีปัญหาเรื่องระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลงตามธรรมชาติ เป็นอุปสรรคของแพขนานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา กระทรวงคมนาคมได้เปิดให้บริการสะพานสิริลันตา เพื่อรองรับการเดินทางระหว่างเกาะลันตาน้อย และเกาะลันตาใหญ่แล้ว โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จะช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวง แก้ไขปัญหาการจราจรที่ล่าช้าบริเวณท่าแพขนานยนต์ พัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง
แก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการสร้างทางเชื่อม (Missing Link) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค
ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา คือ เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง จากการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ ซึ่งจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่การใช้สะพานจะลดเวลาเหลือเพียง 2 นาที ช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม และการขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ลดระยะทางการเดินทางระหว่างอ.คลองท่อม และอ.เกาะลันตา ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง และในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์ ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่