วันนี้ (27 ต.ค.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ทีมจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าสำรวจแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จ.ชลบุรี พบการระบาดของโรคแถบสีเหลือง
โรคแถบสีเหลืองมีอัตราการลุกลาม 1-6 ซม.ต่อสัปดาห์ ในปะการังเขากวาง และ 1 ซม.ต่อเดือน ในปะการังโขด หากพบส่วนใดของปะการังเป็นโรคแล้วปะการังจะตาย
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
อธิบดี ทช.กล่าวว่า ขณะนี้เพื่อป้องกันการติดต่อลุกลาม และหยุดยั้งการตายของปะการัง ได้มีการแยกปะการังส่วนที่เป็นโรคออกมาจากแนวปะการัง หากปล่อยไว้จะเทำให้ปะการังแข็งและปะการังอ่อนได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้างโดยมีทีม ทช.ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 1 มูลนิธิรักษ์ปะการัง คณะเทคโนโลยีทางทะเล ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และอาสาสมัครนักดำน้ำ และเอกชน
พบปะการังที่เป็นโรคระบาดค่อนข้างมาก บริเวณเกาะขาม หมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จึงขอความร่วมมือเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เรือฝากแจ้งสถานการณ์
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
รู้จักโรคระบาดในปะการัง
สำหรับโรคปะการัง เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดจากความเครียดทางชีวภาพ และ abiotic แต่ปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรง และทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว มีสิ่งกระตุ้นทางชีวภาพ คือสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต และก่อให้เกิดความเครียดแบบ abiotic ซึ่งเป็นตัวสร้างความเครียดทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของความเค็ม และอุณหภูมิแสง
ส่วนสาเหตุสำคัญของการระบาดโรคปะการัง มีความซับซ้อน และไม่เป็นที่เข้าใจ แม้ว่าการวิจัยชี้ให้เห็นว่าตัวการสำคัญของโรคปะการังเกิดจากภาวะโลกร้อน
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ปะการังเกิดภาวะความเครียด คือมลพิษบนบก การตกตะกอนการจับปลามากเกินไป และการใช้งานโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง
ขณะนี้สั่งการให้นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง เตรียมพร้อมและวางแผนเพื่อรับมือการระบาดของโรคปะการัง รวมถึงอธิบายขั้นตอนในการตรวจหา ประเมินการตอบสนองต่อการระบาดโรคปะการัง