กรณีตำรวจอุดรธานี บุกค้นบ้าน เสี่ย ป.อายุ 55 ปี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังผู้ปกครองแจ้งเด็กอายุ14-16 ปี ถูกเสี่ย ป.ชักชวนมาถ่ายภาพ คลิปเปลือย และถ่ายภาพและคลิปวิดีโอไว้ โดยจ่ายเงินครั้งละ 600-1,000 บาท
วันนี้ (28 ต.ค.2565) พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ควบคุมตัว เสี่ย ป. มาสอบปากคำเพิ่มเติม โดยมีทนายความ และญาตินำเอกสารมายืนยันเรื่องอาวุธปืนที่พบในบ้านของเสี่ย ป.ว่ามีใบอนุญาตถูกต้อง
ทั้งนี้ พนักงานเตรียมนำเสี่ย ป.ฝากขัง ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี เบื้องต้นยังตั้ง 2 ข้อหาคือครอบครองสื่อลามก และพรากผู้เยาว์ ส่วนหลักฐานเพิ่มเติม อยู่ระหว่างรอคลิปไฟล์ภาพที่ส่งไปกู้ข้อมูล ที่มีคลิปถูกลบไป ยังอยู่ในขั้นตอนการกู้ข้อมูล
อ่านข่าวเพิ่ม ค้นบ้านนักธุรกิจอุดรธานี พบอุปกรณ์ถ่ายสื่อลามก - เด็ก 15 ปี 2 คน
ทำความรู้จัก "โรคใคร่เด็ก"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พบข้อมูลจากสำนักงานกิจการยุติธรรม ที่เคยเผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2564 ระบุว่า ดูให้ออก "รักเด็ก” หรือ “ใคร่เด็ก” พฤติกรรมผิดปกติทางจิตที่ต้องระวัง พร้อมทั้งอธิบายว่า
“โรคใคร่เด็ก” (Pedophilia) เป็นอาการทางจิตที่ผิดปกติที่แสดงออกว่าชอบหรือรักเด็ก แต่เป็นความรักที่เกินขอบเขต รักแบบคลั่งไคล้ ต้องการให้เด็กเป็นของตัวเอง จนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ
ลักษณะผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก ไม่แสดงพฤติกรรมที่ชัดเจนและสังเกตอาการจากภายนอกได้ยาก
- ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 35–40 ขึ้นไป
- ไม่ค่อยมีความสุขกับคู่ครองวัยเดียวกัน
- ส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัว คนใกล้ชิด เช่น เพื่อนบ้าน ญาติ
- พยายามเข้าใกล้เด็กด้วยวิธีการตีสนิท หลอกล่อ ให้รางวัล ให้ขนม ให้เงิน เพื่อให้เด็กเชื่อใจ ตีสนิท
- เกิดความรู้สึก มีจินตนาการทางเพศกับเด็กเท่านั้น
- ชอบมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กและทำซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งเด็กคนเดิมหรือเด็กคนใหม่
ใครที่มีความเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อ
เด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ไปถึง 13 ปี
- เด็กทารก
- เด็กอนุบาล
- เด็กประถม
รูปแบบการกระทำทางเพศกับเด็ก
- ไม่มีการสัมผัสร่างกาย
- สัมผัสร่างกายแต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ
- ล่วงละเมิดทางเพศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต “โรคใคร่เด็ก” และอาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ทำความผิดจึงมีความผิด และรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
ข้อมูลอ้างอิง
- รายงานสรุปกรอบกฎหมายและมาตรการในการป้องกันการกระทำความผิดในคดีทางเพศ สกธ. (หน้า 14-16)
- วิทยานิพนธ์คณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2560 โดยน.ส.วรัญญา เสาวนิต เรื่อง ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กกับขอบเขตความรับผิดทางอาญา : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ
- ประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 277, 279, 287/1, 65, 78)
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (มาตรา 14 (4)