ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วุฒิสภาผ่าน "ร่างกฎหมาย กบข." - ไม่ให้สิทธิถอนเงินสะสม 30% ซื้อบ้าน

การเมือง
8 พ.ย. 65
13:02
753
Logo Thai PBS
วุฒิสภาผ่าน "ร่างกฎหมาย กบข."  - ไม่ให้สิทธิถอนเงินสะสม 30% ซื้อบ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วุฒิสภา 193 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.กบข.ไม่ให้สิทธิสมาชิก ถอนเงินสะสม 30% ซื้อที่อยู่อาศัย เหตุอาจทำให้สมาชิกกองทุนได้รับผลตอบแทนที่ลดลง

วันนี้ (8 พ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งกรรมธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยเสียงเอกฉันท์ 193 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

ในการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขเนื้อหาที่สภาฯ เห็นชอบ จำนวน 1 มาตรา ด้วยการตัดมาตรา 5 ซึ่งเพิ่มมาตรา 43/1 ของ ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ซึ่งให้สิทธิสมาชิกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปมีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนไม่เกิน 30% ของเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนที่บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคลเพื่อใช้จ่ายโดยวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ในการจัดหาที่อยู่อาสัยของตนได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ทั้งนี้ ในรายงานของกรรมาธิการฯ ได้ระบุถึงเหตุผลการตัดมาตราดังกล่าวเพราะกังวลถึงสภาพคล่องของกองทุน เนื่องจากตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญฯ (กบข.) กำหนดให้สมาชิกส่งเงินสะสม ขั้นต่ำ 3% ของเงินเดือนและรัฐส่งเงินสมทบอีก 3% ของเงินเดือนและเงินชดเชยอีก 2% ของเงินเดือนเพื่อให้ กบข. บริหารให้เกิดดอกผลได้สะสมไว้ในบัญชีรายบุคคลโดยมีวัตถุประงค์เพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอเมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ

ดังนั้น การออมดังกล่าวจึงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อีกทั้ง กบข.ไมมีวัตถุประสงค์และภารกิจโดยตรงในการจัดสรรเงินเพื่อหาที่อยู่อาศัยใหแก่สมาชิก

เหตุผลที่ต้องตัดมาตรา 5 เพื่อลดปริมาณเงินออม และสูญเสียโอกาสบริหารเงินออม กบข.มีสมาชิก 1.1 ล้านคน มีเงินกองทุนส่วนสมาชิก 464 ล้านบาท มีผลตอบแทนลงทุนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 40 - 65 อยู่ที่ 5.9% หากนำเงิน กบข.ออกมาก่อน 30% เพื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่ทำให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนที่ลดลง


ขณะที่การอภิปรายของ ส.ว.โดย พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.ให้ข้อสังเกตว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ของวุฒิสภา ต้องนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม ซึ่งการพิจารณาที่ผ่านมามักถูก ส.ส.เหน็บแนม อภิปรายกล่าวหาโจมตี ส.ว.ว่าดูร่างกฎหมายไม่เป็น ไม่ละเอียด ไม่เห็นหัวประชาชน ทั้งนี้ มาตราดังกล่าวที่ถูกเพิ่มเติมมาในชั้นสภาฯ ซึ่งได้รับเสียงเอกฉันท์ ทำให้ ส.ส.ภูมิใจมาก ดังนั้น ส.ว.ควรใส่เหตุผลที่อธิบายได้ทุกแง่มุม

สมาชิกเป็นหมื่นคนขอกู้เงินเพื่อสร้างบ้าน กองทุนอาจขาดสภาพคล่อง ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเขียนรายละเอียดไว้ให้ชัดเจน

ทางด้านนายพรเพชร กล่าวด้วยว่า ตนเคยเป็นสมาชิกกองทุน กบข.และเป็นกรรมการทราบว่า กองทุนนี้มีลักษณะพิเศษ เพราะเงินในกองทุนไม่ใช่เงินสมาชิกเท่านั้น เพราะมีเงินของรัฐบาลสมทบการนำเงินเข้าและออกมักจะมีปัญหา

ตนเข้าใจว่า การแปรญัตติของสมาชิกต้องการให้เป็นแบบนั้น สมาชิก กบข.อยากได้เงินมาก่อนเหมือนฝากเงิน แต่ กบข.ต้องการให้เงินเมื่อเกษียณอายุแล้ว แต่หากเกษียณอายุแบบไม่สวยจะไม่ได้เงินสมทบ ดังนั้นขอให้กรรมาธิการร่วมไปพิจารณารายละเอียด

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง