วันนี้ (11 พ.ย.2565) กรณีเกิดเหตุเด็กนักเรียนชาย อายุ 14 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.3 พลัดตกอาคารเรียน ภายในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเขต ต.หัวทะเล อ.เมืองนครราชสีมา จากการสอบถามครูในโรงเรียน ทราบว่า เด็กนักเรียนชายคนดังกล่าวเรียนเก่งมีผลการเรียนดี โดยพบกระเป๋านักเรียนของเด็กผู้เสียชีวิตถูกวางทิ้งไว้อยู่บริเวณชั้น 5 และพบรองเท้าของผู้เสียชีวิตถอดทิ้งไว้อยู่บริเวณ ชั้น 6 เบื้องต้นคาดว่าเด็กนักเรียนคนดังกล่าวผลัดตกลงมาจากระเบียง ชั้น 6
จากการตรวจสอบหลักฐาน และภาพจากกล้องวงจรปิดของทางโรงเรียนพบว่า ช่วงก่อนเกิดเหตุเด็กได้เดินขึ้นไปยังอาคารโดยลำพัง ช่วงเวลาประมาณ 16.50 น.
อ่านข่าว : นักเรียน ม.3 โคราช พลัดตกอาคารเรียนเสียชีวิต
ด้านทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครรราชสีมา ลงพื้นที่หารือกับผู้บริหารโรงเรียนที่เกิดเหตุ เพื่อวางแนวทางป้องกัน เบื้องต้นจะให้ทุกโรงเรียนติดตั้งเหล็กดัดที่หน้าต่างอาคารสูง และติดตั้งประตูม้วนตรงทางขึ้น รวมถึงติดกล้องวงจรปิดเพิ่มในจุดเสี่ยงที่เป็นอาคารสูงเพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนขึ้นไป และอาจให้ครูที่ปรึกษาตั้งกลุ่มไลน์ติดตามพฤติกรรมของนักเรียนทั้งก่อนและหลังเลิกเรียน
ครอบครัว ระบุ ลูกเรียนดี ไม่พบสัญญาณบอกเหตุ
ครอบครัวจัดพิธีบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดใน ต.มาบตะโกเอน อ.ครบุรี โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ แม่ของผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า ปกติลูกชายจะพักอยู่กับพ่อในตัวเมือง พ่อเป็นผู้รับส่งทุกวัน เมื่อวานผิดสังเกตเพราะไปรอรับแล้วลูกไม่มาโทรไปไม่รับ ต่อมาจึงประกาศขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย ปกติลูกเป็นคนร่าเริงไม่เคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า และมีผลการเรียนดี ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ
สำหรับเหตุการณ์นักเรียนตกจากอาคารเสียชีวิต ที่ จ.นครราชสีมา เฉพาะปีนี้มี 3 เหตุการณ์ โดยครั้งแรก เดือน พ.ค. นักเรียนชั้น ม.2 เสียชีวิต ซึ่งผู้ปกครองระบุว่า ไม่พบพฤติกรรมผิดสังเกตมาก่อน เหตุการณ์ที่ 2 เดือน ส.ค. นักเรียนชั้น ม.6 ประวัติการเรียนดี ระยะหลังมักเก็บตัวคนเดียวและเล่นเกมมากผิดปกติ และล่าสุดคือกรณีนักเรียนชั้น ม.3 ที่เพิ่งเสียชีวิตทั้ง 3 โรงเรียนอยู่ใน อ.เมือง และเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่
กรมสุขภาพจิตพบเด็กเสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น
กรมสุขภาพจิต มีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายมาจากการประเมินสุขภาพจิตของเด็กต่ำกว่า 18 ปี ผ่าน www.วัดใจ.com เว็บ ซึ่งมีเด็กเข้ามาประเมินกว่า 130,000 คน
ข้อมูลพบว่า เด็ก 56.31% สุขภาพจิตดี แต่อีกเกือบครึ่งหนึ่ง ส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดี โดย 9.18% เสี่ยงซึมเศร้าและ 15.86% หรือกว่า 20,000 คน ที่เข้ามาประเมินเข้าข่ายเสี่ยงฆ่าตัวตาย ข้อมูลกรมสุขภาพจิตพบว่า เด็กมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ระบุว่า สาเหตุหลักของปัญหา คือ 1.การเรียนตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เรียนที่บ้าน ปรับตัวไม่ได้ แม้ตอนนี้เปิดเรียนแล้วแต่ยังมีปัญหาเดิม รวมถึงกรณีถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง และ 2.ครอบครัว เด็กอยู่ในช่วงวัยที่ขัดแย้งกับผู้ใหญ่ซึ่งความขัดแย้งนี้มีผลต่อ "การซึมเศร้า" ได้มาก
อย่างไรก็ตามคนรอบข้างช่วยได้คือสังเกตสัญญาณเตือนอาการซึมเศร้าหรือมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายมี 3 คำ คือ 1.เศร้า เครียด หงุดหงิด โดยเฉพาะวัยรุ่น บางทีไม่ได้เศร้าให้เห็นตรง ๆ แต่สังเกตจากอาการหงุดหงิดโมโหง่ายได้ 2.ท้อแท้ เบื่อหน่าย คือ อาการที่เด็กรู้สึกไม่อยากทำ ในสิ่งที่เคยชอบหรือเคยทำ และ 3.ไม่อยากไปโรงเรียน