กรณีลูกจ้างโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ว่า ลาไปงานศพพ่อ 8 วัน ถูกนายจ้างเชิญออก ระบุว่าขาดงานหลายวัน ทำงานมาประมาณ 7 เดือน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้
วันนี้ (18 พ.ย.2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างพนักงานตรวจแรงงานประสาน เพื่อขอข้อมูล และข้อเท็จจริงจากผู้โพสต์
หากพบว่าเป็นความจริงยืนยันให้ความช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเต็มที่
เปิดข้อกฎหมายลากิจแรงงานประกันสังคม
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน
สำหรับการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภท มีสิทธิลากิจได้ การลากิจธุระอันจำเป็น หมายถึง กรณีที่ลูกจ้างมีกิจธุระอันจำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง หรือของครอบครัว เช่น จัดการงานศพบุคคลในครอบครัว ทำบัตรประชาชน
ดังนั้น หากลูกจ้างจะต้องลาไปจัดการศพของพ่อที่ต่างจังหวัด ย่อมถือเป็นกิจธุระอันจำเป็นที่ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิลาได้ ตามความจำเป็น และเหมาะสม และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย
หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทร. 02-660 2069–71 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546