ผ่านมาแล้วทุกอย่างสำหรับ "อันวาร์ อิบราฮิม" ก่อนที่จะก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย ถือเป็นการยุติความไม่แน่นอนทางการเมือง นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา
อันวาร์ ประกาศตัวว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่และอุทิศตนเพื่อประเทศชาติ ในระหว่างเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายในพระราชวังในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก
กำหนดการแถลงข่าวของผู้นำคนใหม่เป็นครั้งแรก เมื่อคืนวันที่ 24 พ.ย.ต้องล่าช้าออกไปเป็นชั่วโมง เพราะผู้นำหลายชาติทยอยโทรศัพท์มาหาอันวาร์ เพื่อร่วมแสดงความยินดีในโอกาสนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, โจโค วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ไปจนถึงผู้นำตุรกี
อ่านข่าว : “อันวาร์ อิบราฮิม” สาบานตนรับตำแหน่งนายกฯ มาเลเซีย
กว่าที่จะทำความฝันนี้เป็นจริงได้ อันวาร์ผ่านร้อนผ่านหนาวในสมรภูมิการเมืองมานานถึง 30 ปี นับตั้งแต่ได้ก้าวขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลของมหาธีร์ โมฮาหมัด เมื่อปี 1993 ในตอนนั้น หลายคนมองว่าอันวาร์คือทายาททางการเมืองและขึ้นแท่นว่าที่ผู้นำคนต่อไปของประเทศ
ก่อนที่ความหวังนั้นจะถูกทำลายลงไป หลังจากถูกปลดจากตำแหน่งและขับออกจากพรรคอัมโน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีความผิดทางเพศ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนระบุว่า จุดเริ่มต้นของรอยร้าวระหว่างมหาธีร์และอันวาร์ มาจากความเห็นต่างในการแก้ไขวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 1997 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบวงกว้าง
ตลอดหลายปีหลังจากนั้น อันวาร์เข้าๆ ออกๆ ศาลและเรือนจำหลายครั้งจากคดีทุจริตและรักร่วมเพศ ซึ่งอันวาร์ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าคดีทั้งหมดมีแรงจูงใจมาจากเรื่องทางการเมือง
ชีวิตของอันวาร์ เริ่มตั้งแต่เป็นนักเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบัน เขาต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำถึง 3 ครั้งนานนับ 10 ปี ก่อนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังจากหันมาจับมือกับมหาธีร์อีกครั้ง เพื่อโค่นพรรคอัมโนของนาจิบ ราซัค และทำได้สำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018
แต่พันธมิตรนี้ก็ล่มสลาย หลังจากมหาธีร์ลาออกและไม่ยอมส่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับอันวาร์ตามที่ให้คำมั่นสัญญากันไว้ ทำให้อันวาร์ต้องผิดหวังอีกครั้ง ก่อนที่ผลการเลือกตั้งครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา จะกลายมาเป็นความหวังครั้งใหม่
การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแนวร่วมแต่ละกลุ่มไม่ยอมจับมือกัน ทำให้ไม่มีฝ่ายไหนได้เสียงถึง 112 เสียง เกินครึ่งของทั้งสภาที่มี 222 เสียง ส่งผลให้สมเด็จพระราชาธิบดีต้องทรงยื่นมือเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยจนจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพได้สำเร็จ โดยเป็นการรวมกันของปากาตาน ฮาราปาน, บารีซาน นาซันนาล และพรรคการเมืองในซาราวัค โดยมีเสียงรวม 135 เสียง เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล แต่อันวาร์ยังคงเปิดทางให้พรรคอื่นๆ ที่สนใจสามารถเข้าร่วมในรัฐบาลได้
จุดที่น่าสนใจ คือ อันวาร์จะมีจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับคดีทุจริตกองทุน 1MDB เพราะคนในอัมโน ซึ่งอยู่ในแนวร่วมบารีซาน นาซันนาล หลายคนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไล่เรียงตั้งแต่ประธานพรรคลงมา จุดนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อันวาร์ต้องออกตัวชัดเจนมาโดยตลอด และย้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงในคดีนี้และจะเดินหน้าปราบทุจริตต่อไป
เสียงกลุ่มผู้สนับสนุนอันวาร์ บางส่วนชี้ให้เห็นถึงข้อเรียกร้องของฐานเสียงที่ต้องการเห็นการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง ถือเป็นภาพจำที่หลายคนผูกติดเอาไว้กับตัวอันวาร์มาตั้งแต่อดีต ดังนั้นสิ่งนี้คือหนึ่งในโจทย์หลักที่รอท้าทายฝีมือของผู้นำคนใหม่
แต่เรื่องเร่งด่วนที่สุดและหินที่สุด คือ การสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นทั้งในกลุ่มการเมืองขั้วต่างๆ และในฝั่งประชาชน โดยเฉพาะความกังวลของกลุ่มคนเชื้อสายมาเลย์-มุสลิม ที่กลัวว่าการขึ้นมาของผู้นำฝ่ายสนับสนุนความหลากหลายทางเชื้อชาติ จะออกนโยบายที่กระทบต่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ส่วนประเด็นด้านเศรษฐกิจ ต้องจับตาว่าอันวาร์จะตั้งใครมาคุมกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะมีการเปลี่ยนแปลงร่างงบประมาณปี 2566 ด้วยหรือไม่
สำหรับบททดสอบแรกจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ เพราะอันวาร์จัดให้ "การลงมติไม่ไว้วางใจ" เป็นวาระแรกที่รัฐสภาจะพิจารณาลงมติ ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าอันวาร์พร้อมชนทุกปัญหา เพราะหลายคนปรามาสว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะอยู่ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ฝ่ายค้าน" ประกาศหนุนรัฐบาลเอกภาพมาเลเซีย
"อันวาร์ อิบราฮิม" อ้างชัยชนะเลือกตั้งมาเลเซีย-เตรียมตั้งรัฐบาล