ทางการจีนมีคำสั่งให้อาคารหน่วยงานราชการทุกแห่งทั่วโลกลดธงครึ่งเสา เพื่อไว้อาลัย เจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดี ที่ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 96 ปี ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและการทำงานของอวัยวะหลายอย่างล้มเหลว เมื่อเวลา 12.13 น. ของวันที่ 30 พ.ย.2565 ตามเวลาท้องถิ่นในนครเซี่ยงไฮ้
เจียง ได้รับเลือกให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ปธน. หลังเหตุนองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 เนื่องจากเขามีคุณสมบัติเป็นผู้นำที่มีการประนีประนอมและหวังว่าจะช่วยสมานรอยร้าวระหว่างสมาชิกหัวก้าวหน้ากับสายอนุรักษ์นิยมในพรรคคอมมิวนิสต์
โดยในช่วงที่เจียงทำหน้าที่ผู้นำประเทศจีน มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นมากมาย เช่น อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีนในปี 1997 และจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี 2001 ซึ่งช่วยให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ โดยเศรษฐกิจที่น่าเกรงขามของจีนเริ่มก่อตัวขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์กระชับอำนาจมากขึ้น และจีนได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก
แม้จะปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจด้วยดี แต่ในช่วงปี 1999 เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการปราบรามลัทธิฝ่าหลุนกง (Falun Gong) ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ในช่วงที่อยู่ในอำนาจ เจียง เสนออุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเขาเองที่เรียกว่า "ทฤษฎีสามตัวแทน" (Three Represents theory) เพื่อตอกย้ำความสำคัญของตนเองในฐานะผู้นำ และปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ทันสมัยอีกด้วย และยังเคยพยายามกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ผ่านการเดินทางเยือนหลายครั้ง และเสนอให้จีนร่วมมือในสงครามปราบปรามการก่อการร้าย หลังเหตุวินาศกรรม 9/11
หลังจากวางมือทางการเมือง อดีตผู้นำจีนคนนี้แทบไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณชน แต่กลับกลายเป็นมีมที่โด่งดังบนโลกออนไลน์ ซึ่งชาวจีนหลายคนวาดภาพล้อเลียนเจียงด้วยความรักใคร่ โดยเชื่อมโยงแว่นตาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเขากับคางคก (ที่ไม่ใช่คำตำหนิ) และบรรดาแฟนคลับรุ่นใหม่ของเจียงมักเรียกตัวเองว่า "ผู้บูชาคางคก"
ยิ่งช่วงนี้ที่เกิดกระแสต่อต้าน สี จิ้นผิง ระหว่างการประท้วงค้านมาตรการโควิด ก็ยิ่งเกิดการเปรียบเทียบระหว่างสองผู้นำ โดยหลายคนมองว่า เจียงสามารถนำจีนเข้าสู่เวทีโลกได้ดีกว่าสี และเปิดกว้างต่อตะวันตกมากกว่า รวมถึงอาจกล่าวได้ว่า ช่วงที่ เจียง อยู่ในอำนาจ สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากกว่าในปัจจุบัน
หลังการถึงแก่อสัญกรรม เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวจีนร่วมโพสต์ไว้อาลัยและพยายามหลีกเลี่ยงคำที่พาดพิงถึง เจียง เพื่อเลี่ยงการเซ็นเซอร์จากรัฐบาล โดยหันไปใช้คำอื่นๆ แทนทั้ง คางคก แว่นตา และคุณปู่ ขณะที่บางคนโพสต์ภาพและใช้ว่า Rest in Peace แสดงความอาลัย โดยพบว่ามีหลายล้านความคิดเห็นจากชาวจีน และส่วนใหญ่ไปในทิศทางบวก
ปกติ ผู้นำสูงสุดของจีน จะไม่มีบัญชีส่วนตัวบนสื่อสังคมออนไลน์ และโพสต์เกี่ยวกับผู้นำจีนจะถูกกรองอย่างเข้มงวดเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้คนส่งข้อความวิจารณ์รัฐบาล
ในทางกลับกัน แม้หลายคนคิดถึงสมัยที่ เจียง ดำรงตำแหน่ง แต่บางคนเรียกเขาว่า นักฉวยโอกาสทางการเมือง พร้อมระบุด้วยว่า จริงๆ แล้วเจียงเป็นนักการเมืองหัวอนุรักษนิยมและพยายามเปลี่ยนกลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ ระบุว่า เจียง ช่วยให้จีนฟื้นฟูตัวเองหลังจากปี 1989 และเหตุจลาจลที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และทำให้จีนก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลก จึงมองว่าเจียงเป็นบแบบอย่างของผู้นำที่ดียุคปัจจุบัน (modern figure)
ขณะที่บางคนมองว่า ในระหว่างการประชุมพรรคครั้งที่ 20 การที่ เจียง ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม อาจเป็นเพราะเขาป่วยหนักและไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ หรือจริงๆ เขาอาจเสียชีวิตแล้ว แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้ประกาศการเสียชีวิตของเขาและเลือกที่ประกาศในช่วงนี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเหตุประท้วงที่กำลังเกิดขึ้น
อ่านข่าวเพิ่ม : "เจียง เจ๋อหมิน" อดีต ปธน.จีน ถึงแก่อสัญกรรม อายุ 96 ปี