ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ และยอดขายในในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลลดลงจากไตรมาส 2 อยู่ที่กว่า 198,000 หน่วย มูลค่ากว่า 984,000 ล้านบาท ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขาย 177,000 หน่วย มูลค่า 870,000 แสนล้านบาท โดยเฉพาะบ้านจัดสรรในกลุ่มราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า ต้องจับตาในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น เพราะจะสิ้นสุดมาตรการ LTV จะทำให้ผู้ประกอบการเร่งโอนที่อยู่อาศัยสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ประมาณ 950,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แต่สำหรับปี 2566 มองว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงกว่าปี 2565 ประมาณร้อยละ 14 ของจำนวนหน่วยขายและลดลงร้อยละ 10 ของยอดมูลค่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบมาจากการยกเลิกมาตรการ LTV ที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นทำให้การลงทุนอสังหาฯลดลง
ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบต่อการลงทุนในตลาดอสังหาฯ รวมถึงมาตรการภาษีที่ดินที่จะกลับมาจัดเก็บ 100% จึงส่งผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการจากการสต๊อกที่ดินเปล่า และสต๊อกเหลือขาย
ดังนั้น ในปีหน้าอยากให้รัฐบาลและแบงค์ชาติ พิจารณาปรับลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง และขยายมาตรการ LTV ออกไปอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และลดผลกระทบราคาบ้านที่จะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า ร้อยละ 5-10 จากต้นทุนค่าแรงและวัสดุก่อสร้าง
นายวิชัย ยังประเมินว่า นโยบายการขึ้นค่าแรง 600 บาทของพรรคการเมือง จะกระทบต่อตลาดอสังหาฯ มากที่สุด เพราะต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะที่เศรษฐกิจพึ่งเริ่มฟื้นตัว ภาครัฐจึงควรที่จะใช้มาตรการอื่น ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย