เช่น การขอความร่วมมือเรื่องการประชุมสภา เรื่องห้ามนำของกินจุบจิบไปกินในห้องประชุมสภา หรือแม้แต่ เมื่อครั้งมีการใช้สภาเป็นแคทวอล์ค สำหรับเดินแบบของ ส.ส.หน้าใหม่หลายคน หลังเลือกตั้งปี 2562 เสร็จสิ้น
นายชวนพูดชัดเจนว่า สภาล่มเพราะ ส.ส.ส่วนหนึ่งลาประชุมสภาไปกับกรรมาธิการ ไปกองกันอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลาที่กรรมาธิการต้องใช้งบประมาณ
เหมือนเป็นคำตอบในตัวว่า สาเหตุที่สภาล่มแล้วล่มอีก จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับสมาชิกไปแล้ว โดยเฉพาะวันที่ 21 ธันวาคม เกิดจาก ส.ส.ที่เหลืออยู่จำกัดอยู่แล้วจากการทยอยลาออกเพื่อหาพรรคการเมืองใหม่สังกัด เลือกที่จะไปกับกรรมาธิการที่ตนสังกัด อ้างว่าเป็นการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ มากกว่าจะอยู่ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และรักษาองค์ประชุม
แม้นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการสภาฯ ของสภาผู้แทนฯราษฎร จะตอบโต้เรื่องนี้ ปฏิเสธว่าสภาล่มไม่เกี่ยวกับ ส.ส.ในฐานะกรรมาธิการสภา เดินทางไปดูงานต่างประเทศ เพราะมีกรรมาธิการไม่กี่คณะ และส.ส.ไม่กี่คนที่เดินทางไป
ทั้งกำหนดการก็ไม่ใช่วันประชุมสภา แต่ในทางปฏิบัติปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลให้การประชุมล่มทั้งในวันที่ 21 ธันวาคม และมีปัญหาประธานในที่ประชุมหิวข้าวจนต้องเลิกการประชุม ไปต่อไม่ได้ ในการประชุมวันที่ 22 ธันวาคม
ยิ่งฟังจากตัวเลขงบประมาณที่ใช้จากคำชี้แจงของนายอนันต์ ในเทอมสุดท้ายของสมัยประชุมสภา กรรมาธิการจะมีงบดูงานต่างประเทศคณะละ 7 แสนบาทเท่านั้น เทียบกับตลอดทั้งปีงบประมาณที่ได้คณะละ 4-5 ล้านบาท และอ้างว่าที่ผ่านมา กมธ. ไม่เคยไปดูงานต่างประเทศมานานแล้ว
หากคิดกันเล่นๆ หากกรรมาธิการแต่ละคณะใช้งบดูงาน 7 แสน สภาผู้แทนฯ มีกรรมาธิการ 35 คณะ รวมแล้วจะตกถึง 24.5 ล้านบาท และแม้ว่า กรรมาธิการมีความสำคัญในแง่บทบาท และการทำหน้าที่ สามารถตรวจสอบติดตามเรื่องราวสำคัญๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
สำหรับเรื่องศึกษางาน หรือดูงานในต่างประเทศ ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า ไปดูงานจริง ๆ หรือเพียงแค่กล่าวอ้างเพื่อหวังไปเที่ยว เพราะอาจมีการดูงานบ้าง แต่หลักๆ เวลาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการไปเที่ยวและช็อปปิ้งเสียมากกว่า โดยบ่อยครั้งจะมีพ่วงคนในครอบครัวหรือคนพิเศษไปด้วย แต่ใช้งบของสภาฯ จ่ายแทน
ในช่วงปี 2563 ที่โควิด 19 กำลังเริ่มแพร่ระบาด ต้องปิดประเทศ และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีคำสั่งและเป็นมติครม. ให้ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ งดเดินทางและห้ามไปดูงานต่างประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายของประเทศด้วย
และก็มีเสียงขานรับจากทางสภา โดยสำนักเลขาธิการ ตัดงบประมาณค่าใช้จ่าย 336 ล้าน คืนให้กับสำนักงบประมาณ ประกอบด้วยงบฯ อบรมสัมมนา งบฯ เดินทางไปดูงานต่างประเทศ และเบี้ยเลี้ยงกรรมาธิการทุกคณะ ถือเป็นจังหวะที่ได้รับเสียงสรรเสริญจากผู้คน
แต่เมื่อสถานการณ์โควิด 19 เริ่มลดลง รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ไปยังระดับฐานราก ในราว ๆ เดือนมิถุนายน 2565 จึงมีหนังสือเวียนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สั่งยกเลิกคำสั่งห้ามข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ งดการเดินทางและดูงานในต่างประเทศ ส่งผลให้แทบทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม
รวมทั้ง ส.ส.และกรรมาธิการ ที่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีโครงการศึกษาและดูงานต่างประเทศกลับมาเป็นเหมือนเดิม กระทั่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการใช้งบประมาณทิ้งทวนก่อนครบวาระ 4 ปีหรือไม่