วันนี้ (17 ม.ค.2566) นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยถึงกรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ปะทะพรานป่า พบของกลางที่เป็นซากของสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ว่า จากผลการตรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพและการออกตรวจ เพื่อป้องกันและปราบปรามตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.-ธ.ค.2565 ของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และตามการข่าวที่ได้รับแจ้ง พบมีพรานอาวุธครบมือจำนวนหลายคน หลายกลุ่ม เข้าล่าค่างบริเวณป่าเขาน้ำเย็น ป่าห้วยขมิ้น ป่าไซเบอร์ ป่าห้วยอีซะ ป่ายอดห้วยยาว และป่ายอดห้วยคอม้า
นอกจากนี้ ภาพจากกล้องดักถ่ายบริเวณดังกล่าว ยังพบมีบุคคลหลายคนถืออาวุธปืนและแบกกระสอบปุ๋ย เข้ามาล่าสัตว์ตามข่าวที่ได้รับแจ้งมา ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ และหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยอีซะ และข้อมูลจากสายข่าวในพื้นที่ยังแจ้งว่า มีการนำซากค่าง ซึ่งแปรรูปเป็นส้มค่าง ออกมาจำหน่ายในพื้นที่ ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี
จากการเข้าลาดตระเวนบริเวณป่ายอดห้วยคอม้า เจ้าหน้าที่ยังพบซากเศษหนังค่างที่ถูกทิ้งไว้ บริเวณปางพักของผู้ต้องสงสัย และพิสูจน์ทราบว่ามักจะมีการเข้าออกมาใช้พื้นที่เพื่อการล่าสัตว์ป่าและเก็บหาของป่าอยู่เสมอ สังเกตได้จากร่องรอยการทิ้งขยะที่เกิดจากการเข้ามาใช้พื้นที่ การทำปางพัก รอยก่อกองไฟ รอยที่นอนจำนวนหลายคน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงได้เพิ่มความเข้มข้นในการเข้าตรวจสอบลาดตระเวนพื้นที่ดังกล่าวพร้อมวางแผนการปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบล่าค่างในพื้นที่ดังกล่าว
ไทม์ไลน์เหตุปะทะพรานป่า
จากแผนการลาดตระเวนในช่วงเดือน ม.ค.2566 จนกระทั่งวันที่ 14 ม.ค. เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับป่าพลู จำนวน 5 นาย ลาดตระเวนเข้าพื้นที่ตามแผนที่ได้รับมอบหมาย เวลาประมาณ 10.20 น. ได้ยินเสียงปืนจำนวน 5 นัด ในทิศตะวันตก ห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่อยู่ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จึงได้แจ้งให้นายปัณภัทร์ ว่องไว ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และรายงานให้นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทราบตามลำดับ พร้อมประสานกำลังจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยอีซะ เข้าร่วมกันตรวจสอบตามทิศทางที่ได้ยินเสียงปืน โดยทำการแยก 2 ชุด โดยชุดหน่วยพิทักษ์ป่าซับป่าพลู จำนวน 5 นาย และชุดหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยอีซะ จำนวน 4 นาย
จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. ขณะเข้าตรวจสอบ เจ้าหน้าที่พบชายไม่ทราบชื่อ 3 คน และได้ยินเสียงผู้ชายตะโกนว่า “อนุรักษ์” ทิศทางมาจากกลุ่มชายดังกล่าว ชุดหน่วยพิทักษ์ป่าซับป่าพลูได้แสดงตัวเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนจะมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากทิศทางกลุ่มชายดังกล่าว
เจ้าหน้าที่จึงได้หมอบเข้าที่กำบังและยิงปืนออกไปทันที ยังที่มาของเสียงปืนกลุ่มชาย 3 คน จนหัวหน้าชุดพิทักษ์ป่าซับป่าพลูสั่งหยุดยิงและถอยร่นกลับไปสถานที่ปลอดภัย จึงได้ประสานงานหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยอีซะ เข้ามาเป็นกำลังเสริม และร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่จุดปะทะ ตรวจพบอาวุธปืน 3 กระบอก ได้แก่ อาวุธปืนลูกซองเดี่ยวแบบหักลำกล้อง 1 กระบอก อาวุธปืนลูกกรดขนาด .22 ติดลำกล้อง 2 กระบอก และอุปกรณ์ดำรงชีพในป่าอีกหลายรายการ
พบของกลางซากค่าง-ส้มค่าง-พญากระรอกดำ
ถัดไปประมาณ 100 เมตร พบชายไม่ทราบชื่อ 1 คน อยู่ในลักษณะนอนหงาย ตรวจสอบพบว่าเสียชีวิตจากการปะทะในพื้นที่เกิดเหตุพบของกลาง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ลำดับที่ 17 ลำดับที่ 134 ลำดับที่ 151 ประกอบด้วย ค่างแว่นถิ่นเหนือ (Presbytis phayrei) จำนวน 3 ซาก น้ำหนัก 23.9 กิโลกรัม ซากค่างรมควัน จำนวน 1 ซาก น้ำหนัก 1.1 กิโลกรัม ซากชิ้นส่วนค่างรมควัน จำนวน 20 ชิ้น น้ำหนัก 830 กรัม พร้อมส้มค่าง จำนวน 3 ถุง น้ำหนัก 60 กิโลกรัม พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) จำนวน 1 ซาก น้ำหนัก 760 กรัม และลิงลม หรือ นางอาย (Nycticebus coucang) จำนวน 1 ซาก น้ำหนัก 300 กรัม
ทั้งนี้ พบว่าผู้กระทำความผิดทั้ง 3 คน ได้เข้ามาในป่าห้วยขาแข้งประมาณ 3 วันแล้ว และล่าสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง โดยนำมาทำส้มค่างและรมควันไว้ คาดว่าน่าจะเดินทางกลับในวันเกิดเหตุ จึงได้แบ่งซากสัตว์ป่าออกเป็นส่วน ๆ ส่วนละเท่า ๆ กัน โดยแบ่งส้มค่างคนละ 20 กิโลกรัม เพื่อสะดวกในการขนย้าย หากเดินทางออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแล้ว สามารถที่จะแยกย้ายกลับบ้านของตนเองได้เลย และนำส้มค่างไปขายให้กับผู้ที่สนใจในราคากิโลกรัมละ 550-600 บาท หากขายได้ทั้งหมดจะได้เงินประมาณคนละ 11,000-12,000 บาท หากรวมทั้งหมด 33,000-36,000 บาท ยังไม่รวมซากอื่น ๆ ที่รมควัน
จากนั้นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับโทรศัพท์จากญาติผู้บาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ว่า ตนเองถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่ขา ขอให้เจ้าหน้าที่พาตัวผู้บาดเจ็บออกไปรักษาพยาบาล เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าค้นหาและพบผู้บาดเจ็บ จึงทำการปฐมพยาบาล และนำผู้บาดเจ็บออกจากที่เกิดเหตุโดยใช้เปลสนาม ระยะทางจากจุดเกิดเหตุมายังหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อนำไปรักษาที่โรงพยาบาลห้วยคต ก่อนส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอุทัยธานี
แจ้ง 5 ข้อหาล่าสัตว์ป่า
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหาให้แก่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ฐานความผิด ต่อไปนี้
1.ฐาน “ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามมาตรา 12
2.ฐาน “ร่วมกันมีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 17
3.ฐาน “ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 53
4.ฐาน “ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 54
5.ฐาน “ร่วมกันเก็บหา และกระทำการใดๆทำการให้เสื่อมสภาพซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” ตามมาตรา 55 (5) และ 6. มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ฐาน “ร่วมกันเก็บหาของป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ” ตามมาตรา 14 (1)
กรณีผู้เสียชีวิต เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ประสานงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งจะเป็นตัวแทนเข้าไปให้ความช่วยเหลือและเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตตามศีลธรรมจรรยาต่อไป ส่วนผู้บาดเจ็บอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอยู่ในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุทัยธานี จากการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดพบว่า 1 ในผู้กระทำความผิด ได้กระทำความผิดฐานล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยล่าตะกวด 2 ตัว เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2561 ศาลจังหวัดอุทัยธานี พิพากษาว่ากระทำผิดจริง โทษรวมจำคุก 33 เดือน และปรับ 44,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ส่วนผู้หลบหนี พนักงานสอบสวนจะติดตามตัวเพื่อนำมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป