วันนี้ (23 ม.ค.2566) ผลการศึกษาของอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ใน Cardiology Research ทำการตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของกลุ่มตัวอย่าง 16,000 คน ระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ย.2020 หรือช่วงก่อนที่จะมีวัคซีนโควิด-19 พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อในช่วงเวลาดังกล่าว มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 3 สัปดาห์แรก ของการติดเชื้อสูงถึง 81 เท่า
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจ มีแนวโน้มจะมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หลังจาก 22 วัน หลังได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ และอาจมีอาการต่อเนื่องไปอีก 18 เดือน
ขณะที่ผลการศึกษาของนักวิจัยจาก Uniformed Services University ของสหรัฐฯ ที่ศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยโควิด 2,000 คน พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะมีอาการดังกล่าวเกี่ยวกับหัวใจ เป็นเวลา 28 วันหรือนานกว่านั้น หลังการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากสหรัฐฯ พบด้วยว่า 77 % ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เสี่ยงที่จะมีอาการลองโควิดมากกว่าผู้ได้รับวัคซีน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงผู้มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท อาการป่วยทางจิต รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนของปอดด้วย
ด้านผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ ระบุว่า ผลการศึกษาเหล่านี้ให้ผลตรงกันว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน มีความเสี่ยงที่จะมีอาการลองโควิดมากกว่า ซึ่งทำให้เห็นว่า วัคซีนช่วยลดอาการลองโควิดและลดอาการรุนแรงหลังจากการติดเชื้อได้ โดยระบุด้วยว่า ถ้าไวรัสจะแพร่จากปอดไปสู่ระบบหมุนเวียนและเข้าสู่หัวใจ จะต้องผ่านกระแสเลือด ซึ่งวัคซีนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีในกระแสเลือด และนี่เป็นกลไกที่ชัดเจนว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหัวใจได้
ส่วนอาการทางจมูก ซึ่งเรามักได้ยินอาการลองโควิดเกี่ยวกับการไม่ได้กลิ่นต่อเนื่องเป็นเวลานานแม้หายจากโรคแล้ว นักวิจัยระบุว่า แอนติบอดีจากวัคซีนที่สร้างขึ้นในผิวเยื่อบุจมูกทำหน้านี้ป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เส้นประสาทรับกลิ่น ซึ่งอาจทำให้บางคนมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นได้ เพราะฉะนั้นแอนติบอดีที่เกิดขึ้นในจุดดังกล่าว อาจช่วยลดอาการไม่รับรู้กลิ่นในระยะยาวได้
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาอื่น ๆ ที่พบว่าพบว่า อาการลองโควิดที่อาจเกิดขึ้นระยะยาว มักจะหายไปในระยะเวลาประมาณ 12 เดือน หรือ 1 ปี