ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่รุกเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น ทำให้หลายคนสนใจจะทำธุรกิจนี้ น.ส.พรรณทิพา ศรีโชติ ใน จ.เชียงราย คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่เลือกขนสินค้าอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาในร้านถูกดี เพื่อเริ่มต้นกิจการเมื่อในอดีต โดยมีบริษัท ทีดี ตะวันแดง เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด แต่ขณะนี้บริษัทบอกเลิกสัญญาและแจ้งข้อหายักยอกทรัพย์
ขณะที่ร้านใน จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกบอกเลิกสัญญา เพราะไม่ปฏิบัติตามสัญญา บริษัทจึงส่งพนักงานเข้ามาเก็บสินค้า หลังจากบอกเลิกสัญญา ตรวจนับสินค้า รวมไปถึงให้ชำระค่าสินค้าสูญหาย
เช่นเดียวกับ จ.สุโขทัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมลงทุนร้านถูกดี เล่าว่า เมื่อ 9 เดือนก่อน ลงทุนกู้เงินกับธนาคารที่ทางบริษัทแนะนำจำนวน 500,000 บาท ช่วงแรก ขายของได้ดี ส่งเงินขายได้ตามกำหนดเวลา แต่ระยะหลังมีการก่อสร้างถนนหน้าร้าน ประกอบกับครอบครัวป่วยโควิด-19 จึงทำให้ยอดลดลง และมียอดค้างจ่ายกว่า 30,000 บาท บริษัทจึงมายึดสินค้าไปทั้งหมด และต้องปิดร้าน พร้อมมีหนี้สินอยู่กว่า 500,000 บาท
เช่นเดียวกับชาวบ้านนางั่ว ต.นางั่ว อ.เมืองเพชรบูรณ์ ลงทุนเปิดร้านถูกดี เดือนแรกมียอดขายนับแสนบาท แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเช็คสินค้า ปรากฏว่าน้ำมันพืชหายไป 1 กล่อง ต่อมาสินค้าเริ่มหายไปจากสต๊อกมากขึ้นเรื่อย ๆ บางเดือนเกือบ 30,000 บาท ยิ่งขายก็ยิ่งขาดทุน จึงตัดสินใจปิดกิจการ
แต่ไม่ใช่ทุกร้านที่จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะร้านโชห่วยภายใต้ชื่อแบรนด์ ถูกดี ร้านนี้ ตั้งอยู่ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้ มีลูกค้าที่เป็นชาวบ้านในชุมชนซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง
เจ้าของร้านบอกว่า ทำร้านโชห่วยมาเกือบ 10 ปี และเพิ่งตัดสินใจร่วมดำเนินการร้านถูกดี ได้ประมาณปีครึ่ง รายได้อยู่ที่วันละกว่า 20,000 บาท มองว่า การทำร้านให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีความรู้ด้านการบริหารจัดการ คอยตรวจเช็กสต๊อกสินค้าอย่างสม่ำเสมอ และต้องไม่ทำผิดสัญญา
ผู้บริหารทีดี ตะวันแดงชี้แจงปมบอกเลือกสัญญา
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร บริษัท ทีดี ตะวันแดง ระบุว่า การบอกเลิกสัญญาร้านค้าที่ร่วมดำเนินการร้านถูกดี จ.เชียงราย เนื่องจากทำผิดสัญญา โดยหลังเปิดร้านมีการโอนเงินล่าช้าต่อเนื่องมากกว่า 80 ครั้ง จาก 130 ครั้งและในเดือน พ.ย. ทีมนับสต๊อกของบริษัทได้เข้าตรวจสอบสต๊อก พบว่ามียอดสินค้าสูญหายสูงกว่าส่วนแบ่งรายได้
ทั้งนี้ บริษัทจึงนำรายได้ของร้านค้ามาหักชำระค่าสินค้าซึ่งไม่พอชำระ และได้ส่งหนังสือทวงถาม ให้ชำระเข้ามาภายใน 3 วัน เมื่อถึงกำหนด จึงออกจดหมาย เพื่อบอกเลิกสัญญา ต่อมา 25 ธ.ค.2565 ร้านโอนยอดค้างชำระมาให้บริษัท แต่เลยกำหนดแล้ว จึงยืนยันเข้าไปปิดร้านตามนัดหมาย แต่เข้าไปเก็บสินค้าและทรัพย์สินของบริษัทไม่ได้จึงแจ้งความข้อหายักยอก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ร้องเรียนให้ไปที่สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ให้ตรวจสอบว่า รูปแบบการค้า ปฎิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมหรือไม่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง
ด้านนายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ธุรกิจดังกล่าว เป็นการร่วมลงทุนระหว่างพาร์ทเนอร์และบริษัท ซึ่งผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนการลงทุนให้ดี ว่าส่วนที่ลงทุนและแบ่งกำไรเพียงพอ ต่อการดำเนินธุรกิจต่อหรือไม่ เพราะสัญญาที่ตกลงกัน นับเป็นสัญญาทางแพ่ง เมื่อมีผู้ฝ่าฝืนสัญญา หรือทำผิด จะต้องรับผิดไปตามสัญญา ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีความผิดตามอาญา เมื่อบอกเลิกสัญญา และทางบริษัทได้เข้าไปเก็บสินค้าออกจากร้านแต่พาร์ทเนอร์ขัดขวาง ทำให้เข้าใจว่ามีเจตนาทุจริต ซึ่งต้องพิสูจน์ในชั้นพนักงานสอบสวน
บริษัท ทีดี ตะวันแดง คืออะไร
สำหรับบริษัท ทีดี ตะวันแดง เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 เป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกชุมชน มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 สาขา รูปแบบการลงทุน บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนสินค้า อุปกรณ์ทั้งหมด เช่น ชั้นวางสินค้า ตู้เย็น เครื่องคิดเงินอัตโนมัติ (POS) กล้องวงจรปิด มูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท
ส่วนผู้ดำเนินการต้องลงทุนปรับปรุงร้านและเงินค้ำประกันสัญญา 200,000 บาท ผู้ดำเนินการต้องส่งรายได้ทุกวัน โดยแบ่งรายได้จากกำไร ร้อยละ 85 เป็นของผู้ดำเนินการ อีกร้อยละ 15 เป็นของบริษัท
หากไม่ส่งรายได้ บริษัทจะทวงถาม หากเกิน 3 วัน จะหยุดส่งสินค้า และหากเกิน 4 วัน จะมีจดหมายแจ้งชำระเงินภายใน 3 วัน หากไม่ชำระเงินจะบอกเลิกสัญญา และนัดหมายขนย้ายสินค้าและอุปกรณ์ออกจากร้าน ปัจจุบันมีการบอกเลิกสัญญาไปร้อยละ 5