วันนี้ (3 ก.พ.2566) เวลา 07.00 น. เว็บไซต์ air4thai รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยพบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 59 - 119 มคก.ต่อ ลบ.ม. ขณะที่พบพื้นที่เกินค่ามาตรฐานในระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ในวันนี้พบ 15 พื้นที่ มีฝุ่นอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่
ค่าฝุ่น PM 2.5 วันนี้ สีแดง 15 พื้นที่
- ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 114 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 93 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม วัดค่าได้ 101 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนตรีมิตร วงเวียนโอเดียน์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ วัดค่าได้ 92 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 93 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 101 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 100 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 105 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 91 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 103 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 104 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 91 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ วัดค่าได้ 95 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง ปทุมธานี วัดค่าได้ 104 มคก.ต่อ ลบ.ม.
- ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ วัดค่าได้ 119 มคก.ต่อ ลบ.ม.
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ฝุ่นละอองในระยะนี้ ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มของการสะสมฝุ่นละออง ส่วนหมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง
นอกจากนี้ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับจดหมายแจ้งผู้ปกครองเรื่อง งดการมาเรียนที่โรงเรียนและปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบ CUD PLUS+ เนื่องจากสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงของดเดินทางมาโรงเรียนในวันนี้ (3 ก.พ.2566) ด้วย
ส่วนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ประกาศปิดเรียนในวันศุกร์ที่ 3 ก.พ.2566 รวมเป็นเวลา 1 วัน และเปิดเรียนตามปกติในวันจันทร์ที่ 6 ก.พ.2566
วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 เบื้องต้น
ในช่วงที่ประชาชนยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องนั้น การป้องกันตนเองในเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แนะนำวิธีดูแลตัวเองอย่างไรในภาวะ PM2.5 สูง 7 ข้อ ดังนี้
- ใส่หน้ากากประเภทที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในบริเวณที่มลพิษอากาศสูง
- งดการออกกำลังกายกายนอกตัวอาคาร เช่น งดวิ่งในสวนสาธารณะชั่วคราว ให้เปลี่ยนมา
- ออกกำลังกายภายในตัวอาคารแทน
- หมั่นตรวจตราไม่เปิดหน้าต่างในช่วงภาวะ PM 2.5 สูง เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอกเข้ามาในตัวอาคาร
- ช่วยกันงดการเผาไหม้ที่ “ไม่” สมบูรณ์ เช่น งดจุดเทียนในตัวอาคาร และนอกตัวอาคารงดการเผาในที่โล่ง งดใช้รถดีเซลที่ปล่อยควันดำ
- กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ กลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก