ทางผู้ประกอบการรายที่ใช้ไฟฟ้าเยอะ เช่น ห้องเย็นแห่งหนึ่งใน จ.ตรัง ที่ยอมรับว่าเดือดร้อนหนักจากค่าไฟฟ้า
และอีกที่คือโรงงานแช่แข็ง ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีส่วนของโรงงานทั้งหมด 4 โรง ที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิตและรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง ที่มีกำลังการผลิตวันละประมาณ 20-30 ตัน
แต่ละโกดังจะใช้ไฟฟ้าที่อุณหภูมิที่แตกต่างกัน เช่น
ส่วนของแผนกการผลิต จะต้องใช้ไฟฟ้า เฉพาะเวลากลางวันที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส
ส่วนโกดังที่จะต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย ห้องแช่แข็ง หรือ ห้องฟรีส อุณหภูมิ -40 ถึง -50 องศาเซลเซียส
โกดังจัดเก็บผลิตภัณฑ์อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ บางห้องจากที่ต้องใช้อุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียส ก็ลดความเย็นลงมาที่ -20 องศาเซลเซียส เพื่อประหยัดแต่คงคุณภาพ แต่หากเป็นปลาตัวใหญ่ ประเภท ปลาทูนา ปลาซาบะ ปลากระพงแดง ต้องใช้ที่อุณหภูมิ -30 องศาเซลเซียส
ผู้บริหารโรงงาน ยอมรับว่าอัตราค่าไฟฟ้าล่าสุดกระทบธุรกิจอย่างมาก โดยจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72-5.00 บาท/หน่วย หากปรับอีก ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องจ่ายเพิ่มอีกปีละกว่า 12 ล้านบาท
สิ่งที่เป็นห่วงมากหลังจากนี้อีกคือ ในเดือนมีนาคม รัฐบาลจะหมดวาระการทำงาน ก็จะทำให้เกิดสูญญากาศในการบริหารประเทศ ถ้าผู้บริหารถือโอกาสขึ้นค่า Ft ในฐานะภาคอุตสาหกรรมก็รู้สึกเป็นห่วง
นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บ.ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) บอกว่า
เมื่อค่าไฟปรับขึ้นค่าอื่นๆ ก็จะต้องปรับตาม ทั้งวัตถุดิบ ค่าแพคเกจจิ้ง ค่าขนส่ง ยอมรับประเมินสถานการณ์ระยะยาวไม่ได้ จึงบริหารเอาตัวรอดก่อนมองสั้นๆ ในระยะ 3 เดือนเท่านั้น ยังไม่นับรวมการปรับขึ้นค่าแรงอีก จึงอยากให้ผู้บริหารมองปัญหาในระยะยาวด้วย
ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่าที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ เเละสุดท้ายต้นทุนต่างๆ จะส่งผ่านไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่ง กกร. เสนอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดถัดไปเดือน พ.ค-ส.ค.2566 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง
ดังนั้น กกร. จึงเห็นชอบแนวทางจัดตั้ง กรอ. พลังงานและให้สำนักงาน กกร. จัดทำโครงสร้างรูปแบบการทำงานเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบเพื่อพิจารณาจัดตั้งต่อไป