กรณีบริษัท เปิดตัวปลาเก๋าหยก ทดลองเชิงพาณิชย์ แต่เกิดการตั้งคำถามว่าปลาเก๋าหยก เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ ที่กรมประมงออกประกาศห้ามนำเข้า ห้ามเพาะเลี้ยง
วันนี้ (3 ก.พ.2566) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยก (Jade perch) เพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2561 ซึ่งหลังจากระยะทดลองได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนเม.ย.2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัย โดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด คือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น โดยบริษัทฯ ต้องดำเนินการในพื้นที่ที่กรมประมงอนุญาตเท่านั้น และห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตโดยเด็ดขาด
ขู่หากปชส.นอกกรอบวิจัย-ถูกพักใช้ใบอนุญาต
ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลอง เพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามาเท่านั้น เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร การดำเนินการศึกษาวิจัยต้องรายงานให้กรมประมงรับทราบทุกขั้นตอน ตลอดจนต้องส่งผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์แก่กรมประมง
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การออกข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ดังกล่าว ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์รวมถึงทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ
ขณะนี้กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้
ทดลองชิม-ปลาหยกแช่แข็งครั้งแรก
ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่งานเกษตรแฟร์ บริเวณบูทงานนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ประมง พบว่าทางซีพีเอฟ ได้นำผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยกแช่แข็งมาจำหน่าย และมีการแปรรูปเป็นเมนูอาหารให้ผู้เข้าร่วมงานชิม และซื้อกลับบ้าน เช่น เมนูปลาหยกนึ่งซีอิ้ว โดยได้รับความสนใจอย่างมาก
ผู้ที่มาชิม และซื้อผลิตภัณฑ์ บอกว่า รสชาติของปลาหยก มีเนื้อสัมผัสเหมือนกับปลาหิมะ ไม่คาว เนื้อแน่น และมีความสดมาก แม้จะผ่านการแช่แข็ง ส่วนข่าวดรามาว่าเป็นปลาห้ามนำเข้า ไม่ทราบแต่เชื่อว่าบริษัทคงมีระบบการเลี้ยงที่ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหากับระบบนิเวศ
ด้านนายสมบัติ พรขุนทด ผจก.ทั่วไป บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร บอกว่า บริษัทฯ วิจัยปลาหยกมา 7 ปีแล้ว ผ่านขั้นตอนการอนุญาตอย่างเป็นทางการ จากกรมประมง และเงื่อนไขคือจะไม่มีการขายปลาที่ไม่ตาย แต่จะแปรรูปปลาแช่แข็งเท่านั้น แต่ละล็อตการผลิตต้องมีการเช็กสต็อก
เบื้องต้นยังอยู่ในโครงการวิจัยร่วมกับกรมประมง ตั้งเป้าผลิตปีละ 70 ตัน หรือ ปีละ 200,000 ตัว และการเปิดตัวที่งานเกษตรแฟร์ ได้รับอนุญาตจากกรมประมง และถือว่าวันนี้เสียงการตอบรับค่อนข้างดี
ส่วนข้อกังวลว่าหากปลาหยกหลุดออกไปในสิ่งแวดล้อมจะแพร่พันธุ์ได้หรือไม่นั้น นายสมบัติ กล่าวว่า ปลาหยกโอกาสรอดในธรรมชาติน้อยมาก เป็นปลาจากเมืองหนาว ลำพังเลี้ยงในระบบปิดยังเลี้ยงยาก และอาจจะถูกล่าจากปลาพื้นเมืองไม่ใช้สัตว์ผู้ล่า และการเลี้ยงด้วยระบบอาหารสำเร็จรูป แต่ยอมรับว่าในประเด็นนี้ยังไม่ได้มีงานวิจัยยืนชัดเจนและต้องศึกษาเพิ่มเติม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ปลาหยก" เอเลียนสปีชีส์ 1 ใน 13 ชนิดที่ถูกห้ามนำเข้าไทย