30 วันหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงอธิบดีกรมอุทยานฯ ข้อกล่าวหาเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามสรุปผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยให้ออกจากราชการไว้ก่อน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2566
ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รับมอบสำนวนจากพนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 เพื่อดำเนินการไต่สวนคดีต่อ โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องที่มีรายชื่อบนซองจากหลักฐานที่ได้มา 21 รายการ
ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.และตำรวจ บก.ปปป. จับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ข้อหาเรียกรับสินบน เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2565
เปิดงบโครงการคูกันช้างดงใหญ่
ข้อความหน้าซองกระดาษ เขียนด้วยลายมือว่า “คูดงใหญ่ ยอด 1,800,000 VIP (70%) = 1,260,000” เป็นหลักฐาน 1 ใน 21 รายการตรวจยึดคดีเรียกรับสินบนของนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
คำว่า “คูดงใหญ่” บนหน้าซอง ทำให้ โครงการก่อสร้างคูกันช้างดงใหญ่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ถูกตั้งคำถามว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่
นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า โครงการขุดคูกันช้างตามแนวขอบป่าดงใหญ่ ระยะทาง 105.2 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 53 ล้านบาท เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมี.ค.2564 มีการปรับแก้ไขสัญญา 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 โดยลดระยะทางจาก 105.2 กิโลเมตร ลงเหลือ 98.65 กิโลเมตร ปรับลดงบจาก 53 ล้านบาท เหลือประมาณ 51 ล้านบาท สาเหตุเพราะมีบางจุดที่ไม่สามารถขุดคูได้
โครงการก่อสร้างคูกันช้างดงใหญ่ เบิกจ่ายงบประมาณ 3 ครั้ง รวม 51,530,543 บาท ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว
งบประมาณส่วนที่เหลือ กว่า 2 ล้านบาทไม่ได้อยู่ในงบเบิกจ่าย เพราะมีการปรับลดค่างานก่อสร้าง และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าส่งคืนงบประมาณส่วนนี้แล้ว
นายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ให้ข้อมูลว่า มีจุดที่ไม่สามารถขุดคูได้ รวมระยะทางเกือบ 7 กิโลเมตร จึงแก้ไขงบประมาณสัญญาโครงการครั้งที่ 2 วันที่ 29 มี.ค.2565 เหลือระยะทาง 98.65 กิโลเมตร ปรับลดงบเหลือ 51,530,542 บาท
ถึงแม้ปรากฏตัวเลขสินบนกว่า 1,200,000 บาท มาจากที่นี่ แต่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ในฐานะพยานในคดีฯ ปฏิเสธความเกี่ยวข้อง โดยอ้างว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงการนี้จะมีเงินทอน
จริงๆแล้ว เงินเบิกจ่ายไปที่กรม ไม่ใช่การเอามาแล้วให้คืนกลับ ผมก็เบิกเฉพาะค่าดำเนินการระยะทาง 98.60 กม. ผมเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และเป็นข้าราชการตรวจรับพัสดุเท่านั้น เรื่องอย่างอื่นไม่ทราบ
ทำอย่างไรเมื่อคู(ไม่)กันช้าง
ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ คูกันช้างขุดตลอดแนวขอบป่าขนาบไปกับหลายหมู่บ้าน แต่จากการสำรวจพบหลายจุดคันดินพังทลาย คูตื้นเขิน กว่า 50 จุดสร้างไม่ได้เพราะลักษณะทางกายภาพ ช้างป่ายังคงออกมาทำลายทรัพย์สินและพืชผลของชาวบ้านรอบนอกคูกันช้าง
กรมอุทยานฯ ยอมรับว่า คูกันช้างที่สร้างเสร็จแล้ว ยังป้องกันช้างออกนอกป่าไม่ได้ ขณะนี้ กำลังออกแบบเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ เสริมความแข็งแกร่งของคูกันช้างที่มีอยู่ โดยเริ่มทำแล้วที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
ชาวบ้าน ต.พวา อ.แก่งหางแมว นำทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจสภาพแนวป้องกันช้างป่า แม้มีการซ่อมแซมบำรุงรักษาแนวรั้วและคันดิน แต่ยังพบด่านช้างหรือเส้นทางเดินประจำ อยู่หลายจุดตลอดระยะแนวกั้นช้าง
ที่นี่มีข้อมูลและการบันทึกภาพช้างป่าสามารถข้ามผ่านแนวป้องกัน ทั้งรั้วกั้น และคูกันช้างได้
11 ก.พ.2565 ดร.สุวิชาณ สุวรรณาคะ เลขาธิการเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอให้ตรวจสอบการจ่ายงบประมาณในการทำคูและรั้วกั้นช้าง เพราะนอกจากพฤติกรรมการเรียนรู้ของช้าง จุดอ่อนคือแนวคูตื้นเขิน และความลาดชันเดิมถูกทำลายจนช้างป่าข้ามผ่านแนวป้องกันได้ และการเชื่อมเหล็กข้ออ้อยที่ยึดโยงระหว่างเสารั้วไม่ได้มาตรฐาน
หากแนวคูกันช้างมีช่องโหว่เพียงรูเดียวก็ถือว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว แบบคูกันช้างที่ลาดคอนกรีตน่าจะแข็งแรงและแก้ปัญหาช้างออกจากพื้นที่ป่าได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งกรมอุทยานฯ รับลูกและประเมินงบฯ ก่อสร้างกิโลเมตรละ 4.6 ล้านบาท
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสรรงบประมาณปี 2567 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพแบบรั้ว ผสมผสานกับคูกันช้าง ที่ต้องขุดคูเดิมให้ลึกราว 3 เมตร ทำมุมประมาณ 36 องศา ปั้นคันสูง 1 เมตร และเสริมความแข็งแกร่งของคันดินด้วยวิธีการลาดคอนกรีต
ถ้าตรงไหนเป็นแนวที่เปราะบางช้างสามารถออกได้ เสมือนเขื่อนรั่วเพียงรูเดียวก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำเลยคือสร้างให้ช้างออกไม่ได้ทั้งแนว ตอนนี้มีความหวังหากแนวคูช้างแบบดาดคอนกรีตประสบความสำเร็จ ก็น่าจะใช้แบบนี้เป็นโมเดล
คูกันช้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศทั่วโลกก็ใช้วิธีนี้ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง
แต่โดยรวมแล้ว การขุดคู ต้องทำให้ช้างก้าวข้ามไม่ได้ และต้องแคบมากจนช้างไม่สามารถลงไปก้นคูได้ เพราะพฤติกรรมของช้างมักเลี่ยงการเดินผ่านพื้นที่ลาดเอียงเกิน 45 องศา
ฉะนั้น หากดินปากหลุมและผนังคูพังทลาย ทำให้ช้างยังข้ามไปในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นมาผสมผสาน เช่น รั้ว ไฟฟ้า แหล่งอาหาร และการมีส่วนร่วมของชุมชน
ข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่าในปี 2565 มีช้างป่า 3,440 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ 69 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ใน 91 อำเภอ 30 จังหวัด รวมกว่า 16,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลของชาวบ้านกว่า 1,400 ราย บาดเจ็บ 23 คน เสียชีวิต 28 คน