ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดแผน 10 วัน 42 นาย USAR Thailand ภารกิจกู้ภัยในตุรกี

สังคม
9 ก.พ. 66
11:17
1,411
Logo Thai PBS
เปิดแผน 10 วัน 42 นาย USAR Thailand ภารกิจกู้ภัยในตุรกี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“เลอพงศ์ สวนสังข์” หัวหน้าทีม USAR Thailand เปิดแผน 10 วัน กู้ภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ระดมกำลัง 42 นาย ทีมค้นหา-ทีมกู้ภัย-ทีมแพทย์ ประสานทีมกู้ภัยรวม 50 ประเทศ กับภารกิจแรกในต่างแดน

นายกรัฐมนตรี อนุมัติจัดส่งทีมหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทีมช่วยเหลือกู้ภัย จำนวน 42 นายจะเดินทางไปตุรกี พร้อมสิ่งของสำหรับการกู้ภัย การบรรเทาสาธารณภัย และเวชภัณฑ์

วันนี้ (9 ก.พ.2566) “เลอพงศ์ สวนสังข์” ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะหัวหน้าทีม USAR Thailand ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์เกี่ยวกับภารกิจสำคัญในครั้งนี้ว่า ทีม USAR Thailand จะเข้าไปในพื้นที่เพื่อค้นหาและกู้ภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร

การเดินทางในครั้งนี้ ตั้งเป้าปฏิบัติภารกิจ 10 วัน โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 42 นาย ประกอบด้วยทีมกู้ภัย ทีมสุนัขค้นหา ทีมแพทย์ และทีมประสานงาน ซึ่งมีการปฏิบัติการตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ

นายเลอพงศ์ ระบุว่า ทีม USAR Thailand แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนบริหารจัดการประสานงานกับองค์การสหประชาชาติ (UN) และพื้นที่ประสบภัย หรือทางการตุรกี 2.ส่วนทีมค้นหา ทำหน้าที่ค้นหาผู้ประสบภัยทั้งอุปกรณ์เทคนิคพิเศษ และทีมสุนัขค้นหา ที่จัดเตรียมไปด้วย 2 ตัว

 

3.ส่วนกู้ภัย เมื่อพบผู้ประสบภัยจะกู้ภัยด้วยเทคนิคพิเศษต่าง ๆ 4.ส่วนการสนับสนุนโลจิสติกส์ สนับสนุนการเดินทางต่าง ๆ ของทีม และ 5.ทีมแพทย์ จากกระทรวงสาธารณสุข 

ตุรกีร้องขอประเทศไทยในส่วนทีมค้นหาและกู้ภัย ซึ่งทีมไทยมีศักยภาพตามมาตรฐานของ UN ทางรัฐบาลไทยจึงส่งทีมเข้าไปปฏิบัติการ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทีม USAR Thailand จะออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ

แม้ว่าขณะนี้แผนการเดินทางจะยังไม่ออกมา จึงทำให้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะไปประจำการที่ใด เนื่องจากอยู่ระหว่างการประสานงานของ UN กับทางการตุรกี แต่ทีม USAR Thailand จะเดินทางออกจากประเทศไทยด้วยสายการบินตุรกีในค่ำวันนี้ (9 ก.พ.2566) เวลา 23.00 น. 

อาฟเตอร์ช็อก-สภาพอากาศ อุปสรรคที่ต้องเตรียมรับมือ

นายเลอพงศ์ ยอมรับว่า ข้อกังวลสำคัญในภารกิจค้นหาและกู้ภัยในครั้งนี้ คือ อาฟเตอร์ช็อกที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงต้องจัดเตรียมเต็นท์และแคมป์ไปเซ็ตฐานปฏิบัติการ ไม่สามารถนอนในอาคารได้ รวมถึงสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ก็ได้จัดเตรียมเสื้อกันหนาว อุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนสุนัขค้นหา ในหลักมนุษยธรรมแล้ว สามารถปฏิบัติการได้ แต่อยู่ในความเหมาะสมของประเทศตุรกีด้วย สิ่งไหนที่สุนัขไม่อาจจะดำเนินการได้ แต่โดยพื้นฐานการค้นหาผู้รอดชีวิต สุนัขอาจจะไม่ได้ไปสัมผัสกับผู้ประสบภัย 

ทั้งนี้ UN จะเป็นผู้ประสานงานหลักกับทีมกู้ภัยนานาประเทศเพื่อที่จะเข้าไปในพื้นที่ตุรกี ซึ่งล่าสุดมีทีมกู้ภัยจาก 50 ประเทศตอบรับเข้าร่วมภารกิจ บางประเทศเดินทางถึงพื้นที่แล้ว ส่วนบางประเทศกำลังทยอยเดินทางไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง