วันนี้ (10 ก.พ.2566) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า ที่ประชุม ยังคงแนะนำการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 2 เข็ม ตามสิทธิประโยชน์ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และตามคำแนะนำทางวิชาการเดิม
แม้ในช่วงปี 2562-2564 ได้เกิดขาดแคลนวัคซีน HPV ทั่วโลก จากปัญหาโรงงานผลิตวัคซีนไม่สามารถผลิตวัคซีน HPV ได้เพียงพอ เนื่องจากวิกฤตการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้เด็กนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2562-2564 จำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน เสียสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐ จากที่ไม่ได้รับวัคซีน HPV ตามแผนงานฯ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต
แต่ในปี 2565 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้จัดส่งวัคซีน HPV จำนวน 800,000 โดส ซึ่งอยู่ระหว่างฉีดนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2565 และได้สั่งซื้อวัคซีน HPV จำนวน 800,000 โดส สำหรับเด็กนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนเพียงพอสำหรับการเก็บตกนักเรียนชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2562-2564 ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงร่วมมือกันผลักดันการจัดหาวัคซีน HPV สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในปี 2562-2564 ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการวางแผนงบประมาณเพื่อจัดหาวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต ยืนยันว่าเด็กไทยชั้น ป.5 ที่ตกค้าง จะได้รับวัคซีนครบทุกรคน ตามความสมัครใจ
จากคําแนะนําของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ประสิทธิผลของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังสูงอยู่ แม้จะเว้นระยะห่างการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปนานกว่าที่กําหนด
"มะเร็งปากมดลูก" พบเป็นอันดับ 2 รองมะเร็งเต้านม
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม พบว่าหญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงถึงปีละเกือบหมื่นราย และมีอัตราเสียชีวิตเกิน 50% นับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นแนวทางการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
หลักการสำคัญคือ ควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย กรมควบคุมโรคจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้มีความครอบคลุมมากที่สุด โดยจะใช้วิธีฉีดเข็มที่ 1 ปูพรมในการเก็บตกให้เด็กที่อายุสูงที่สุดก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างรอวัคซีนที่จะจัดหาเพิ่มเติมโดยเร็ว ทั้งนี้การบริหารจัดการวัคซีนได้เป็นไปตามคำแนะนําของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก
ยืนยันปี 66-67 วัคซีน HPV เพียงพอฉีดเก็บตก
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเสริมถึงแผนการจัดหาวัคซีน HPV เพิ่มเติมว่า จากการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต ได้รับหนังสือยืนยันว่า ในปี 2566 และ 2567 บริษัทผู้ผลิตสามารถจัดหาวัคซีน HPV ได้เพียงพอสำหรับการฉีดเก็บตกในเด็กนักเรียน ชั้น ป.5 ที่ตกค้างได้
ทั้งนี้ ยืนยันว่าวัคซีน HPV ที่จัดหาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยมีประสิทธิภาพสูง ครอบคลุมสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ดี โดยเฉพาะหากฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์