วันนี้ (15 ก.พ.2566) น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายในการประชุมสภาวันแรก ทวงถามการดำเนินนโยบาย ตามนโยบายข้อที่ 8 เรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
และประกาศว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมตั้งคำถามว่าหากผู้ที่กระทำการทุจริตเป็นเครือญาติ ของนายกรัฐมนตรีจะกล้าดำเนินการขั้นเด็ดขาด กับบุคคลในครอบครัวหรือไม่
โดยอ้างว่า นายปฐมพงศ์ จันทร์โอชา มีศักดิ์เป็นหลานชายของพล.อ.ประยุทธ์ มีการเปิดบริษัท หจก.คอนเทมโพลารี่ รับงานรับเหมาก่อสร้าง โดยใช้บ้านพักในค่ายทหาร ใน จ.พิษณุโลก หรือในกองทัพภาคที่ 3 เป็นสถานประกอบกิจการบริษัทนานกว่า 5 ปี จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม
โดยเฉพาะได้รับงานโครงการของรัฐในการประมูลในวงเงินที่สูง จนท้ายที่สุดในวันที่ 3 พ.ย.2559 จึงมีการตั้งบริษัทนอกค่ายทหาร แต่ยังคงเดินหน้ารับประมูลโครงการของทหารอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2555 ถึง 2556 บริษัทดังกล่าวมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง แต่ปี 2557 กลับได้รับประมูลโครงการของรัฐของกองทัพที่มีมูลค่าสูง 28 ล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหาร ซึ่งยังได้รับโครงการประมูลตลอด 8 ปีที่ผ่านมา และตั้งข้อสังเกตว่าทุนจดทะเบียนของบริษัทซึ่งมีมูลค่าน้อย 1.5 ล้านบาท แต่กลับได้รับประมูลโครงการของรัฐซึ่งมีมูลค่าสูง
น.ส.จิราพร ตั้งข้อสังเกตถึงเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีเพียง 13 รายการมูลค่า 385,574 บาท และไม่มีรายการเครื่องจักรกลหนัก แม้แต่รายการเดียว หรือเครื่องมือที่รับโครงการขนาดใหญ่ได้ แต่ได้รับจ้างโครงการของรัฐในวงเงินหลาย 10 ล้านบาท
บริษัทของหลาน พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับประมูลโครงการของรัฐตั้งแต่หลักแสนบาทจนถึงหลัก 100 ล้านบาทตลอด 8 ปี จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบริษัทที่เปิดมาเพื่อ บริษัทนายหน้ารับงานและไปขายงานต่อหรือไม่
ชี้ชนะประมูลโครงการใหญ่-ส่อเลี่ยงภาษี
และยังระบุถึงข้อมูลการตรวจสอบ ที่ตั้งบริษัทเท็มโพลารี่ ใน จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านหลังหนึ่ง ที่พบเพียงมีรถเก๋งหนึ่งคัน และรถขนส่งแกร็บ 1 คัน และตั้งคำถามว่าการได้มาซึ่งการประมูลโครงการของรัฐของบริษัทเทมโพรารีเข้าข่ายฮั้วประมูลโครงการหรือไม่ โดยได้เปิดเผยถึงข้อมูลบริษัทคู่แข่งในการประมูลที่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย และมีข้อส่อพิรุธ
นอกจากนี้ยังหยิบยก 10 โครงการที่ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายฮั้วประมูล ซึ่งเป็นโครงการของกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 9 โครงการ อีกโครงการเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทหลานชายของ พล.อ.ประยุทธ์ชนะการประมูล 6 โครงการ แต่ข้อมูลพบว่าบริษัทที่เข้าร่วมประมูลนั้นเป็นบริษัทที่เกาะกลุ่มเวียนกันร่วมประมูลและสลับกันแพ้ชนะการประมูล ซึ่งมีพฤติการณ์สมยอมราคากัน
ยังทิ้งท้ายด้วยว่านอกจาก 3 ป.ทางการเมืองที่คนจับตาแล้ว ยังมี 3 ป. ที่ใหญ่โต คือ "ป.ประยุทธ์-ป.ปรีชา-ป.ปฐมพงศ์" และตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทหลาน พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีการตกแต่งบัญชีเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งบริษัทรับโครงการของรัฐในการประมูลมูลค่านับ 1,000 ล้านบาท แต่สถานะของบริษัทยังระบุว่ามีการขาดทุน จะมีการตรวจสอบการจ่ายภาษีให้เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่
ส.ส.ร้อยเอ็ด ยังอภิปรายชี้ถึงข้อมูลความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง ระหว่างบริษัทหลานของพล.อ.ประยุทธ์และกลุ่มทุนจีนสีเทา "ตู้ห่าว" และ "นาย ห." ซึ่งอ้างถึงข้อมูลการนำเข้ารถยนต์โดยสารโดยสำแดงราคาเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือไม่
โดยมีการสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าอันเป็นเท็จ หรือ FORM D ที่ไม่ได้มีการถอดแยกชิ้นส่วนมาแต่เป็นการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน โดยนำไปพักไว้ที่มาเลเซียก่อนที่จะนำเข้าไทย และอ้างถึงกระบวนการฟอกเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีการทำธุรกิจเช้ารถหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง