หากไม่นับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ทำให้เยาวราชเปลี่ยนผ่านจากย่านไชนาทาวน์ ชุมชนจีนในไทยที่ก่อตั้งขึ้นมานานกว่า 240 ปี การรุกคืบของกลุ่มทุนใหม่ และการเปลี่ยนผ่านของคนเยาวราชแต่ละรุ่น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เยาวราชอดีตและปัจจุบันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ข้อมูลก่อนรถไฟฟ้ามาเยือน เยาวราชก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2325 พร้อมกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวจีนที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวแต้จิ๋ว ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่แถวพระบรมมหาราชวัง หลังมีการสร้างพระบรมมหาราชวัง ชาวจีนจึงไปอยู่ย่านสำเพ็ง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ.2435 ทำให้ถนนเยาวราชเป็นพื้นที่การค้าและอยู่อาศัยของชุมชนจีนจนถึงปัจจุบัน
รถไฟฟ้า-ไชนาทาวน์-วัฒนธรรมยุคเปลี่ยนผ่าน
อดีตถึงปัจจุบัน เยาวราช คือแหล่งการค้าของคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน สองข้างทางมีร้านทอง ภัตตาคาร ร้านอาหาร ขายอาหารแห้ง สมุนไพรที่มาจากเมืองจีน ร้านขายยาจีน และเป็นแหล่งอาศัยของคณะงิ้ว ซึ่งปัจจุบันโรงงิ้วและคณะงิ้วไม่มีแล้ว เหลือเพียงชุดงิ้วและอุปกรณ์การแสดงงิ้ว ตั้งแสดงอยู่ในซอยบ้านเก่าเล่าเรื่องย่านเจริญไชย
นายภูมิสิษฐ์ หรือ อาร์ท ภูริทองรัตน์ (แซ่เจ็ง) ทายาทรุ่นที่ 2 ของ ร้านบู๊เซ็ง กล่าวว่า เกิดและเติบ โตที่ชุมชนเจริญไชยหรือ “ตรอกตงเฮงโกย” ที่แปลว่า ไม้ไผ่ยาว ตามลักษณะของซอยที่ลึกเข้าไปข้างใน อาม่า และเตี่ย อพยพมาจากเมืองจีน ครั้งแรกเข้ามามีอาชีพขายผลไม้และถ้วยชาม ต่อมาเปลี่ยนอาชีพมาขายกระดาษไหว้เจ้าจนถึงปัจจุบัน
นายภูมิสิษฐ์ เล่าว่า ย่านเจริญไชยเป็นส่วนหนึ่งของเยาวราช เป็นศูนย์กลางของกระดาษไหว้เจ้าในกรุงเทพ มีของหลากหลายที่ที่อื่นไม่มี และหาไม่ได้ในร้านสมัยใหม่ การค้าขายในชุมชนไม่ต่างจากย่านๆ อื่นของเยาวราช ด้วยเกิดและโตที่นี่ จึงเห็นการเปลี่ยนผ่านในพื้นที่ชัดเจน
สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านของย่านเยาวราช นายภูมิสิษฐ์ บอกว่า เห็นชัดๆว่ามี 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนที่จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ยุคนั้นยังไม่มีการเวนคืนที่ดิน ชาวบ้านทั่วไปก็จะใช้ชีวิตตามปกติ ค้าขายในตลาด ตึกแถวอาคารพาณิชย์ มีร้านอาหาร ร้านยาสมุนไพร ขายสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีน
ช่วงที่ 2 ระยะที่เริ่มมีการก่อสร้างรถไฟ้า มีผู้คนเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ หลายครอบครัวถูกเวนคืนที่ดินย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ขายอาคาร ตึก และเปิดให้เช่า
คนนอกเริ่มเข้ามาทำธุรกิจ มีสตรีทฟู้ดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มีร้านกาแฟร่วมสมัย ไม่มีร้านแบบที่อากง อาแปะมานั่งกินกันให้เห็นแล้ว คนรุ่นลูก รุ่นหลาน จะรับช่วงทำธุรกิจโดยต่อยอดจากของเดิม และทำอะไรใหม่ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น
และช่วงที่ 3 เมื่อรถไฟฟ้าเข้ามา พื้นที่รอบๆ ชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด จากเดิมที่เป็นย่านร้านขายยาจีน กลายเป็นย่านธุรกิจ มีร้านอาหารริมถนน ร้านเบียร์ มีการดัดแปลงหน้าร้านขายยาเป็นร้านอาหารทั่วไป สไตล์สมัยใหม่โดยคนรุ่นหลานเป็นทายาทรุ่นที่ 4
เยาวราชไม่เหมือนเดิม
นางพรธิรัตน์ วัฒนกิตติกาญจน์ หรือ "เจ้จู" วัย 60 ปี ช่างหมั่งหมิงมือหนึ่ง ร้านต้นตำรับการถอนขนหน้าที่ปักหลักอยู่ตรงหัวมุมถนนซอยแปลงนาม มานานกว่า 40 ปี เล่าว่า เยาวราชปัจจุบันต่างจากอดีตมาก สมัยก่อนคนไม่มาก พวกร้านค้า คนค้าขายในพื้นที่ ส่วนใหญ่รู้จักกัน ร้านค้าจะมีอากง อาม่า อยู่ประจำร้าน มีลูกหลานๆ ช่วยงานไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารทั่วไป ร้านข้างทาง หรือร้านรถเข็น
ยุคก่อนมีแต่คนจีน คนไทย เข้ามาซื้อขาย ไม่มีคดโกง ปัจจุบันนั่งขายของอยู่ที่ร้านก็มีคนเข้ามาหลอก และขโมยของต่อหน้าต่อตา คนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นมาก หาความปลอดภัยไม่ได้ บอกได้ว่า เยาวราชไม่เหมือนเดิม
GEN เก่าเยาวราช-ทุนจีนใหม่ชิงพื้นที่การค้า
แม้ความเป็นย่านการค้าของคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในเยาวราช จะยังคงอยู่ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัด คือ การลงทุนใหม่ มีการปรับปรุงก่อสร้างรื้ออาคารเก่า สร้างคอมมูนิตีมอลล์ และปรับปรุงร้านค้าเก่าให้เป็นร้านวินเทจ หรือปรับให้ทันสมัยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่
นายภูมิสิษฐ์ กล่าวว่า หากเดินเข้าไปในชุมชน ร้านอาหารตักเป็นหม้อๆ แบบดั้งเดิม เช่น ต้มจับฉ่าย เต้าหู้ทอด น้ำเต้าหู้ ที่เคยวางขายอยู่หน้าบ้าน อาชีพที่เคยสร้างรายได้ให้คนในชุมชนไม่มีแล้ว หากเข้าไปในตลาดจะเจอซูเปอร์มาเก็ตจีน ขายของเฉพาะให้คนจีน มีของแห้งจากเมืองจีนวางขายราคาไม่แพง เช่น แปะก๊วย เห็ดหูหนู กระเพาะปลา
บางจุด คนขายเป็นคนจีนที่มาเช่าหน้าร้านของคนไทยเชื้อสายจีน และหลายๆ แห่ง กลุ่มคนจีนพูดไทยไม่ได้เลย และไม่แน่ใจว่าเขามีบัตรประชาชนไทยหรือไม่ เข้ามาทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ทำร้านอาหาร เปิดหน้าขายของ และทำธุรกิจขายหินสีและมีการเช่าพื้นที่อยู่ที่ตึกเหล็ก
ขณะที่เจ้จู เสริมว่า กลุ่มคนจีนใหม่เข้ามาทำอาชีพค้าขาย แต่จะขายอะไรนั้น ไม่รู้ ได้ยินว่ามีขายพวกแก้ว หินสี ของแห้งจากเมืองจีน ลูกพลับ เขามาอยู่แต่ทำให้บ้านเมืองเราไม่ค่อยสะอาด เสียงดัง เหมือนเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย
ผู้ประกอบการร้านอาหารแห่งหนึ่ง ย่านเยาวราช เล่าว่า ช่วงโควิด-19 ตึกอาคารพาณิชย์ถูกทิ้งร้าง จึงเปิดโอกาสให้คนจีนรุ่นใหม่ที่ใช้วีซานักเรียน นักท่องเที่ยว เข้ามาลงทุนทำธุรกิจหลายรูปแบบ ทั้งร้านอาหาร ขายของกิ๊ฟช็อป สำหรับราคาเช่าตั้งแต่ 500,000- 1,000,000 บาท คนพวกนี้จะถือวีซานักท่องเที่ยว เข้ามาอยู่ครั้งละ 6 เดือนแล้วกลับไป บางรายเปลี่ยนสถานะสมรสเพื่อให้ตนเองอยู่นานกว่า
พวกที่เข้ามาทำธุรกิจเปิดบริษัทจะมีนายหน้าชาวจีนหรือนอมินีไทยไปจดทะเบียนและทำเอกสารต่างๆที่สำนักงานเขตให้ เชื่อว่ามีการจ่ายส่วย ไม่เช่นนั้นเขาอยู่ไม่ได้ คนที่รู้ดีว่า มีใคร หน้าใหม่เข้ามาค้าขาย หรือลงทุนทำอะไรอยู่ในพื้นที่เพื่อทำธุรกิจหรือใช้วีซาประเภทไหน ก็คือเจ้าหน้าที่
Superจีน -ตรอกค้าหินสีและwe chat pay
ตลาดเยาวราชในช่วงกลางวัน ยังมีผู้คนเดินจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง แต่ไม่คึกคักเหมือนช่วงเย็นและค่ำ ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเดิม กล่าวว่าเยาวราชและสำเพ็ง ปัจจุบันแทบจะไม่มีเชื้อสายจีนดั้งเดิมแล้ว โดยเฉพาะเขตพื้นที่ห้วยขวางร้อยละ 80 เป็นกลุ่มจีนใหม่
ผลกระทบ คือ การทำธุรกิจจะไม่มีระบบแข่งขันแต่เป็นระบบผูกขาด เช่น กลุ่มจีนใหม่ เวลาจะสั่งอาหารก็จะมีคนของเขาบอกว่า อย่ากินร้านนี้เลยเป็นร้านของคนไทย ไปกินร้านของคนจีนดีกว่า เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า super จีน
นอกจากธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากกลุ่ม super จีนแล้ว พบว่า ในพื้นที่ย่านตึกเหล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถเก่าของคณะงิ้ว มีซอยเล็กๆด้านหลังอาคารถูกใช้เป็นร้านจำหน่ายหินสี ลูกปัด หินสี เทวรูปหิน เทพเจ้าแกะสลักของจีนกว่า 20 ร้านค้า และเจ้าของร้านเป็นชาวจีนทั้งหมดลูกจ้างร้านจำหน่ายหินสีชาวเมียนมา บอกสั้นๆ
หินสี หยก และเทวรูปต่างๆ นำเข้ามาจากจีนและเมียนมา ลดราคาให้ไม่ได้ หากนายจ้างชาวจีนไม่อนุญาต
อย่างไรก็ตาม จากการเดินสำรวจจากต้นซอยถึงท้ายซอย เจ้าของร้านชาวจีนพูดไทยไม่ได้ เมื่อถามราคาสินค้า จะนำเครื่องคิดเลขขึ้นมากดตัวเลขเพื่อแจ้งราคาสินค้า มีการพูดโต้ตอบเป็นภาษาจีนกับผู้ประกอบการด้วยกัน
ผู้ประกอบการรายหนึ่ง เล่าว่ารูปแบบการทำการค้าของกลุ่มทุนจีนใหม่ในเยาวราช ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายส่งด้วยเช่นกัน เช่น หากพ่อค้าแม่ค้าอยากจะซื้อสินค้าจากกลุ่มจีนใหม่ เช่น น้ำชาจีนแพค หรือสินค้าอื่นๆ เขาจะขายคนไทยในราคาปลีก และขายราคาส่งให้เฉพาะกลุ่มคนจีนด้วยกัน จึงมองว่าเป็นความเหลี่อมล้ำที่เกิดในพื้นที่เยาวราชกับกลุ่มคนไทยที่ทำธุรกิจและเสียภาษีให้รัฐเต็มพิกัด ขณะที่คนจีนใหม่เข้ามากอบโกยส่งเงินทองกลับประเทศ
คนจีนรุ่นใหม่มากันเป็นกลุ่ม เข้ามาขยายพื้นที่ทำธุรกิจ ค้าขาย ซื้อขาย การตลาดออนไลน์ และส่งเงินกลับประเทศโดยไม่ผ่านระบบธนาคารกลาง เพื่อป้องกันการเสียภาษีให้ไทย โอนเงินผ่านระบบ We Chat ซึ่งจีนจะใช้ติดต่อสื่อสารและทำธุรกรรม แต่เราไม่ได้อะไรเลย
สำหรับระบบ We Chat Pay คือ ระบบชำระเงินของจีนซึ่งยังไม่เปิดใช้ในไทยและประเทศอื่นๆ โดย We Chat เป็นโปรแกรม Chat เหมือน Line ซึ่งสามารถโอนเงินผ่าน We Chat และแลกเป็นเงินบาทได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง