ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

1 ปีแห่งความสูญเสีย "รัสเซีย-ยูเครน"

ต่างประเทศ
24 ก.พ. 66
12:59
1,448
Logo Thai PBS
1 ปีแห่งความสูญเสีย "รัสเซีย-ยูเครน"
สิ้นเสียงการประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่า "เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ของ วลาดิเมียร์ ปูติน ปธน.รัสเซีย ในวันที่ 24 ก.พ.2565 นับจากนั้นมาจนวันนี้ ครบรอบ 1 ปีแล้วที่ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน ต่างพบเจอแต่ความสูญเสียที่ไม่มีวันเอากลับคืนมา และดูทีท่ายังไม่มีวันยุติลง

จุดเริ่มต้นจากความพยายามยึดภูมิภาคดอนบาส ประเทศยูเครน ของรัสเซีย เป็นชนวนให้เกิดการทำสงครามตลอด1 ปี คำเตือนทั้งของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่ประกาศกร้าวว่า

ถ้าใครพยายามจะพรากแผ่นดินของเรา เสรีภาพของเรา ชีวิตของเรา เราจะปกป้องตัวเอง

และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ ปูติน ยุติการบุกรุก แต่จนถึงวันนี้ยังดูไร้วี่แววว่าการสู้รบครั้งนี้จะยุติลง ครบ 1 ปีแห่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไทยพีบีเอสออนไลน์ อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าว BBC รวบรวมความเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบ 4 ด้านในสงครามครั้งนี้

พื้นที่ของยูเครน

หลังจาก 1 ปีแห่งการรุกรานรัสเซียยึดครองพื้นที่ที่สำคัญหลายแห่งทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครนได้ แต่ยังไม่สามารถยึดครองเมืองหลวงของยูเครน กรุงเคียฟ ได้สำเร็จ

โจมตีโรงไฟฟ้าของยูเครน

หลังจากเปิดฉากรุกรานยูเครนในช่วง 3 เดือนแรก (ก.พ.-เม.ย.2565) รัสเซียได้ทิ้งขีปนาวุธและโดรนหลายระลอกโจมตีโรงไฟฟ้าในเมืองต่างๆ ของยูเครน และมีการจู่โจมที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวตั้งแต่เดือน ต.ค.2565-ม.ค.2566 ซึ่งตรงกับช่วงฤดูหนาวของยูเครน ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวติดลบหลายองศาเซลเซียสด้วยความยากลำบาก

ยุโรปเผชิญวิกฤตผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยสถิติการอพยพของผู้ลี้ภัยราว 7.7 ล้านคน ที่ออกจากยูเครนไปอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรปรวมถึงรัสเซีย และในจำนวนประชากรราว 44 ล้านคนของยูเครน ต้องเป็นผู้ต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศเกือบ 7 ล้านคน

ทางด้านรัสเซียเองก็มีการอพยพครั้งใหญ่ไปยังโปแลนด์ เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก

ทางสหประชาชาติเรียกสถานการณ์นี้ว่า "การเคลื่อนย้ายประชากรโดยไม่จำยอมที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2"

ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็น ผู้หญิง เด็ก คนชรา และต้องพึ่งพิงพื้นที่บางส่วนในหลายประเทศ มาร์ตินา ชไวน์สเบิร์ก สมาชิกสภาเขตจากเมืองทูรินเจียในเยอรมนี กล่าวว่าช่วงแรกของการเกิดสงคราม เจ้าของที่ดินเอกชนให้ดัดแปลงพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยแก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครน แต่ตอนนี้พวกเขาไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้นแล้ว

เห็นได้ว่าด้วยภาวะสงครามที่ยังดำเนินต่อไป และวิกฤตค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทั่วทั้งโลก กำลังเป็นปัญหาให้หลายพื้นที่ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามนี้ว่าพวกเขาจะสามารถดูแลเหล่าผู้ลี้ภัยจากสงครามครั้งนี้ได้อีกนานแค่ไหน

นานาอาวุธสงครามจากนานาประเทศ

ข้อมูลจาก Military Balance 2022 อ้างอิงตามคำบอกเล่าของทหารกองหนุนรวมถึงประชาชนที่เคยเป็นทหารช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อ้างว่ากองกำลังของรัสเซีย ทั้งทหาร รถถัง เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์โจมตี ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ และปืนใหญ่ นั้นมีมากกว่ายูเครน หลายเท่าตัว

แต่หลังจากเปิดการโจมตียูเครนแล้ว รัสเซียที่เป็นประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก กลับต้องพึ่งพาอาวุธจากประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีเหนือ จีน รวมถึงอิหร่าน และถูกคว่ำบาตรจากชาติอื่นๆ ทั่วโลก

ทางด้านยูเครนเองกลับได้รับมอบอาวุธยุทโธปกรณ์จาก 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อใช้ตอบโต้และปกป้องตัวเองจากการรุกรานของรัสเซีย

ยังไม่มีทีท่าว่าสงครามครั้งนี้จะยุติลงเมื่อใด เมื่อ ปธน.ปูติน ประกาศแสดงจุดยืนที่จะโจมตียูเครนต่อไปเป็นปีที่ 2 และกล่าวหาว่าชาติตะวันตกเป็นฝ่ายปลูกฝังแนวคิดต่อต้านรัสเซียให้ยูเครน ส่วน ปธน.ไบเดน ก็ประกาศชัดเช่นกันที่จะให้การสนับสนุนยูเครนจนกว่าสงครามจะสิ้นสุดลง

ไทยเห็นชอบ UN เรียกร้องรัสเซียถอนทหารและยุติการสู้รบกับยูเครน

ส่วนทางด้านสหประชาชาติ วันนี้ (24 ก.พ.2566) มีญัตติประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนและยุติการสู้รบ และไทยเป็น 1 ใน 141 ชาติที่เห็นชอบกับมติดังกล่าว 32 ชาติงดออกเสียง และ 7 ประเทศรวมถึงรัสเซียที่ไม่เห็นด้วย


มติดังกล่าวยืนยันการสนับสนุน "อำนาจอธิปไตย" และ "บูรณภาพแห่งดินแดน" ของยูเครน โดยปฏิเสธการอ้างสิทธิใดๆ ของรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียถอนกองกำลังทหารทั้งหมดออกจากดินแดนของยูเครนโดยทันที และไม่มีเงื่อนไขภายในพรมแดนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ให้ "ยุติความเป็นปรปักษ์"

ที่มา : BBC

อ่านข่าวเพิ่ม : 

141 ชาติรวม "ไทย" โหวตหนุนมติยูเอ็นเรียกร้องรัสเซียยุติสงคราม

ยูเอ็นเผย "พลเรือนยูเครน" ตายจากสงครามเกิน 8,000 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง