เมื่อวันที่ (3 มี.ค.2566) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยมีเนื้อหาดังนี้
โดยที่เป็นการสมควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง นั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไมได้สัญชาติไทย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 และมาตรา 224 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ประกอบข้อ 46 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ.2566 และประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 อันถือได้ว่าเป็นประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกประกาศให้ทราบเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งเพื่อเป็นการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้น ดังนี้
1.จำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวน 65,106,481 คน
2.จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 162,766 คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน
3. จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ดังนี้
ทั้งนี้ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยคำนวณจากราษฎรสัญชาติไทย มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ใน 8 จังหวัด โดยมี 4 จังหวัดที่ จำนวน ส.ส.ลดลงได้แก่ จ.เชียงราย จะมี ส.ส.7 คน จ.เชียงใหม่ จะมี ส.ส. 10 คน จ.ตาก จะมี ส.ส. 3 คน และ จ.สมุทรสาคร จะมี ส.ส. 3 คน
ขณะที่ มี 4 จังหวัด ที่จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นได้แก่ จ.อุดรธานี จะมี ส.ส.10 คน ลพบุรี จะมี ส.ส. 5 คน จ.นครศรีธรรมราช จะมี ส.ส. 10 คน และ จ.ปัตตานี จะมี ส.ส. 5 คน