วันนี้ (21 มี.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหมืองอัคราฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง หลังสำนักงานอุตสาหกรรม จ.พิจิตร อนุญาตให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดทำเหมืองฯ อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. นับตั้งแต่ถูกสั่งหยุดกิจการตามคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2559 กระทั่งเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยเหมืองฯ กลับมาเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา
บริษัทฯ แจ้งแผนดำเนินงานระยะแรก จะใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียว จากนั้นจะซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 เมื่อทั้ง 2 แห่งกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพจะรับพนักงานเพิ่มร่วม 1,000 อัตรา นอกจากนี้บริษัทฯ ยังระบุว่าการอนุมัติใบอนุญาตเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของรัฐ เพราะใช้เวลาในกระบวนการนานมาก เข้าใจได้ว่าหน่วยงานรัฐต้องใช้เวลาตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน
ชาวบ้านกังวลเปิดเหมืองกระทบปัญหามลพิษ
ขณะที่ชาวบ้านอาศัยอยู่พื้นที่โดยรอบเหมืองทั้งฝั่ง จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ กังวลกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยชาวบ้านคนหนึ่งใน อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ กังวลว่าการเปิดเหมืองจะทำให้มีผลกระทบด้านมลพิษ เพราะเชื่อว่าปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข
เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกคนหนึ่งใน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กังวลว่ารู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชนใน 2 จังหวัด โดยจะนำข้อมูลส่งต่อให้จังหวัดที่รับผิดชอบและหน่วยงานส่วนกลาง เพื่อเร่งแก้ไขเยียวยาต่อไป
ภาค ปชช.ตั้งข้อสงสัยเปิดเหมืองเอื้อเอกชนหรือไม่ ?
ขณะที่เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เคยตั้งข้อสังเกต 7 ประเด็นที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ บริษัทแม่ของบริษัทอัคราฯ เกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่ โดยส่วนหนึ่งในข้อสังเกตของภาคประชาชน เช่น ประเด็กที่ 1 บริษัทได้ทำเหมืองบนพื้นที่เดิม คือ “แหล่งชาตรี” ซึ่งยังเหลือพื้นที่อีก 1แปลง ได้รับการขยายอายุประทานบัตรทั้งแหล่งชาตรีและแหล่งชาตรีเหนือ ด้วยเหตุผลว่าบริษัทเสียโอกาสในการทำเหมืองจากคำสั่ง คสช.ตั้งแต่ปี 2560
ประเด็นที่ 2.บริษัทได้ทำเหมืองบนพื้นที่ใหม่ คือ “แหล่งสุวรรณ” ซึ่งคาดว่าอยู่ในพื้นที่ ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ "แหล่งโชคดี" คาดว่าอยู่ในเขต ต.บ้านมุง และ ต.วังยา อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งทองคำที่ทับพื้นที่ทั้งในและนอกเขตอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย
และประเด็น 3.บริษัทได้รับการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ เช่น ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเป็นการอนุญาตให้โรงประกอบโลหกรรมขยายการถลุงแร่ทองคำเพิ่มอีก 3 เท่าจาก 8,000 ตันต่อวัน เป็น 24,000 ตันต่อวัน ทั้งที่โรงงานนี้สร้างก่อนได้รับอนุญาต และสร้างก่อนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งขณะนี้เป็นคดีความอยู่ในศาลปกครองสูงสุด