เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่าสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดตราด ได้รับแจ้งจากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตราดว่ามีการซื้อ-ขาย กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ซากปะการัง ในพื้นที่ จ.ตราด
โดยพบการประกาศขายในเพจชื่อ เครื่องรางทนสิทธิ์ แปลก หายาก และเพจเครื่องรางของขลังจากธรรมชาติทุกชนิด กะลา กาฝาก ไม้ไผ่ ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 โดยระบุข้อความ ปังขาว ปังแดง ฟองน้ำทะเล เพื่อเอาไว้แต่งตู้ปลา
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พบของกลางนับร้อยชิ้น
เจ้าหน้าที่ ทช.นำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านหลังหนึ่งใน อ.เขาสมิง จ.ตราด จากการตรวจค้นพบชากกัลปังหา แปรสภาพเป็นแหวน กำไล 30 ชิ้น ซากกัลปังหา บรรจุกล่องพร้อมส่ง 47 ชิ้น ซากกัลปังหา อยู่ในภาชนะกาละมัง 20 ชิ้นซากกัลปังหา 22 ชิ้น ซากกัลปังหาแข็ง 6 ชิ้น ซึ่งนายภูมิศักดิ์ จีนะศิริเจ้าของบ้าน ยอมรับว่าขายจริง แต่ไม่รู้ว่าเป็นกัลปังหา เข้าใจว่ามันคือรากหิน
เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขบวนการนี้มาเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีการร้องเรียนจากกลุ่มนักอนุรักษ์ว่ามีการประกาศขายกำไล และแหวนที่ทำจากกัลปังหาผ่านทางเฟซบุ๊ก
สำหรับ "กัลปังหา" เป็นสัตว์ใต้ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับปะการัง เติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุตเท่านั้น มักถูกลักลอบนำมาค้าขายเป็นเครื่องประดับ เครื่องราง หรือนำมาทำเป็นยารักษาโรคตามความเชื่อ
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เจ้าหน้าที่จึงพาตัวเจ้าของบ้านและภรรยาที่โพสต์ขาย มาแจ้งข้อกล่าวหา ฐานค้าและมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตฯ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดฐานค้าฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ