แม้เพลง "มนต์การเมือง" ที่ขับร้องโดย ครูคำรณ สัมบุณณานนท์ ผู้ล่วงลับไปนานกว่า 50 ปี จะมีอายุเท่ากับผู้ขับร้องที่จากไป แต่เนื้อหาความคลาสสิกของบทประพันธ์ไม่เคยล้าสมัย และต้องถูกนำมาเปิดแทบทุกครั้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ด้วยว่า นัยของเพลงได้สะท้อนแง่มุมการหาเสียงของนักการเมืองอย่างทะลุทะลวง
โดยเฉพาะท่อนที่ว่า "ปากบอกรักชาติผมฟังอนาถใจจริง เห็นแต่เขาจะช่วงจะชิงตำแหน่งใหญ่ยิ่งกันในสภา วิ่งเต้นหาเสียงกินเลี้ยงกันใหญ่ ตามเหลาตามบาร์ บางคราวยกพวกเข้าเข่นฆ่า มันเหลือระอาผู้แทนเมืองไทย"
สำหรับผู้ที่จะก้าวขึ้นแท่นมาเป็นว่าที่ "ผู้แทนเมืองไทย"ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ หรือคนหน้าเก่า หน้าเดิม เพิ่มเติม คือ สลับสับเปลี่ยนพรรค ก็ยังอยู่ในวังวนอยู่ในมนต์การเมือง ต้องลงพื้นที่ช่วงชิงคะแนนนิยมจากประชาชน กองเชียร์ และแฟนคลับ
แม้จะเปลี่ยนพรรค เปลี่ยนเพลงหาเสียง แต่ทุกครั้งเสี่ยงปี่กลองขยับ ต่างก็ลุยใส่กันไม่ยั้ง โดยเฉพาะการใช้เสียงเพลงเพื่อสื่อสารและหาเสียงทำความเข้าใจกับประชาชน แสดงจุดยืน ตัวตน แนะนำสารพัดนโยบาย ส่วนจะทำได้หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ภูมิ พ่วงกิ่ม นิสิตสาขาพัฒนามนุษย์และสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำการศึกษาเรื่อง "ศึกษาดนตรีกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ.2547-2557" โดยข้อเขียนดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (ตุลาคม 2558 มกราคม 2559)
โดยมีข้อความตอนหนึ่ง ระบุถึงรูปแบบเฉพาะทางของดนตรีที่มีการนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยว่า ดนตรีหรือบทเพลงทางการเมือง (music in politics) หมายถึง บทเพลงที่ใช้เป็นสื่อในการนำ เสนอภาพตัวตนของกลุ่มชนในมิติต่างๆ เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวัง นอกจากจะใช้สะท้อนภาพชีวิตกลุ่มชนในสังคมแล้ว ยังอาจสะท้อนภาพด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม
ขณะที่ รศ.ดร. สุชาติ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เคยอธิบายพื้นฐานความคิดเรื่องดนตรีการเมือง (Political music) ว่า เกิดขึ้นมาในสังคมสยามจนถึงสังคมไทยเป็นช่วงๆ เกิดจากแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความคิดของผู้ที่เขียนบทเพลงนี้ โดยสะท้อนวัฒน ธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย และมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ก็เช่นเดียวกัน บรรยากาศก่อนจะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองได้ปล่อยเพลงหาเสียง เพื่อส่งสารและสื่อไปยังประชาชน ผ่านเนื้อร้อง ทำนองและจังหวะอันเร้าใจ กระตุ้นให้เหล่าแฟนคลับ ให้ขยับแข้งขยับขากันแล้ว
มาดูเนื้อหาของเพลงหาเสียงว่า พรรคใดต้องการจะสื่อสารอะไร ผ่านบทเพลงดังกล่าวกันบ้าง
ประเดิมเพลงแรก "เช้าวันใหม่" ของพรรคประชาธิปัตย์ ขับร้องโดยนายเมธี อรุณ หรือ "เมธี ลาบานูน" เปิดด้วยภาพ นายชวน หลีกภัย ตีกลองสะบัดชัย ทำดนตรี ทำนอง คึกคักเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ โดยเนื้อเพลงพูดถึงประชาธิปัตย์ยุคใหม่ เปรียบเหมือนพลังของเช้าวันใหม่สร้างความมั่นคง ทำได้ไว ทำได้จริง
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ปล่อยเพลงก้าวข้ามความขัดแย้ง และ "ลุงป้อม700" เพื่อสะท้อนภาพจำของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ในลักษณะผู้ใหญ่ ใจดี ใจถึงพึ่งได้ คอยดูแลปัญหาของชาวบ้าน นอกจากนี้เพลง "ลุงป้อม700" ยังส่อให้เห็นถึงนโยบายการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท
ด้านพรรคเพื่อไทย ปล่อยเพลง "เพื่อไทยแลนด์สไลด์" มีเนื้อหา จังหวะและทำนองที่ที่เรียกฮิตติดลมบนได้ง่าย ทำนองเพลงมีความเป็นเพลงป็อบถูกใจคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าเปิดที่เวทีไหน แม่ยกลุกมาเต้นได้ไม่ขัดเขิน
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ปล่อยเพลงหาเสียงออกมา 4 เพลง โดยเพลงหลักรวมไทยสร้างชาติเป็นเพลงช้าจุดขาย ความซื่อสัตย์สุจริต ความรักชาติ มุ่งสร้างความสามัคคีในประเทศ ส่วนเพลงที่คาดว่าจะถูกคอแฟนคลับคือ เพลงเชียร์ลุงตู่ สู้ สู้
ถัดมาที่พรรคภูมิใจไทยใช้เพลง"พูดแล้วทำ" ซึ่งเป็นมอตโต้ประจำพรรคที่ใช้ในการหาเสียง เนื้อเพลงกล่าวถึง "คำพูดเป็นเหมือนนายคน เมื่อพูดออกไปก็ต้องทำให้ได้" สะท้อนให้เห็นตัวพรรคภูมิใจไทยที่
สุดท้ายที่พรรคก้าวไกล ใช้เพลง "เลือกก้าวไกล" เป็นจุดขาย โดยสาระในเนื้อเพลงแสดงจุดยืน การทำลายทุนผูกขาด สร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง พร้อมชนกับต้นตอปัญหา รวมไปถึงการสร้างรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรค
และนี่คือ "มนต์การเมือง" ที่ดึงดูดให้ว่าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองวิ่งเข้าหากัน แม้หนทางข้างหน้า ยังไม่รู้ว่า ประชาชนจะเลือกใคร
"ผมขอวิงวอนราษฎรทั่วทั้งแผ่นดิน คุณพวกชอบโกงชอบกินคุณพวกกังฉินอย่าเลือกเข้าไปเลือกแต่คนดียังมีอยู่อีกมากมาย แล้วพี่น้องจะสุขใจจะพาชาติไทยเรารุ่งเรือง"