หนึ่งใน 3 ทหารเสือคือ “เสธ.ชาติ” พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43 จ.นราธิวาส อดีต ส.ส.พรรคความหวังใหม่ หนึ่งเดียวในภาคใต้ ยุค “พ่อใหญ่จิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปี 2535 และอดีต ผอ.เลือกตั้งภาคใต้ พปชร.
ความสำเร็จครั้งนั้น ส่งผลพลิกผันต่อเส้นทางการเมืองท้องถิ่น จากเดิมที่ เสธ.ชาติ หวังเพียงจะลงชิงนายก เล็กเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ กลายเป็นได้ขยับชั้น ขึ้นไปชิงนายกเล็กเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2563 ได้เกือบ 2.4 แสนคะแนน แต่ได้ที่ 2 แพ้ นายไพเจน มากสุวรรณ์ ประมาณ 2.5 พันคะแนน
ถือเป็นการพลาดหวังซ้ำซาก หลังจากไม่มีโควตารัฐมนตรีให้กับ ส.ส.พปชร.กลุ่มด้ามขวานไทย หลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ พ.อ.สุชาติกับ ส.ส.ภาคใต้ ของพรรคพยายามก่อตั้งขึ้น ก่อนจะล้มคว่ำไม่เป็นท่า เพราะขาดความเป็นเอกภาพ ส.ส.บางส่วนไปสังกัดกลุ่ม ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ที่พยายามขยายพื้นที่บารมีไปยังส.ส.ภาคใต้
ยังไม่นับรวมข่าววงในให้ ส.ส.กลุ่มด้ามขวาน เสนอชื่อว่าใครเหมาะสมจะเป็นรัฐมนตรีโควต้าภาคใต้ ปรากฏว่า ส.ส.ส่วนหนึ่งด้อยค่า เสธ.ชาติ เสนอชื่อตัวเองเป็นรัฐมนตรีอยู่หลายคน กระทั่งบางจังหวะ จะมีเสียงท้าทายขึงขังจากเขาไปยังกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ว่าประสบความสำเร็จได้ เพราะเขากรุยทางให้
รวมทั้งเมื่อครั้ง เสธ.ชาติ ประกาศลาออกจาก พปชร.ไปอยู่พรรคใหม่ เมื่อปลายปี 2564 มี ส.ส.นครศรีธรรมราช บางคน เปิดประเด็นว่า พ.อ.สุชาติ ได้ชักชวน ส.ส.พลังประชารัฐ ให้ไปอยู่ด้วย จึงโดนย้อนกลับด้วยถ้อยคำที่ไม่ธรรมดา ว่า
ถ้าไม่มีเขา ไม่มีทางได้เป็นส.ส. เพราะเมื่อครั้งต้องลาออกจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องใช้เงินถึง 7 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เงินจากพรรค แต่มาจากเงินที่เขาและทีมงานช่วยกันหามาให้ ฉะนั้นอย่าอวดเก่ง อย่าเป็นวัวลืมตีน
เสธ.ชาติย้ายค่ายเปลี่ยนโปรใหม่ จากพรรคพลังประชารัฐ ไปเป็นรองหัวหน้าพรรคกล้า ก่อนย้ายไปพรรคสร้างอนาคตไทย ของกลุ่ม 2 กุมาร ที่ชูนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นนายกฯ แต่ไปต่อไม่ได้ สุดท้ายแกนนำต้องกลับไปอยู่กับ พปชร.ตามเดิม สุดท้ายจึงต้องไปพรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์ของพรรค คุมพื้นที่ จ.สงขลา
เลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยปักธง ส.ส.สงขลาได้ 1 คน จาก 8 คน ในพื้นที่เขต 7 นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ แต่ครั้งนี้มีเพิ่มอีก 1 คน มีการประเมินว่า ภท.น่าจะมีโอกาสได้ส.ส. 3-4 คน เพราะในจำนวนนี้ มีนายไพร พัฒโน อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ ในเขต 3 รวมอยู่ด้วย
ด้วยแรงส่งที่ต้องการพิสูจน์ฝีมือให้ ส.ส.ภาคใต้ และพรรคพลังประชารัฐ ได้ตระหนักถึงศักยภาพ รวมทั้งอนาคตทางการเมืองที่ต้องไปต่อได้ของตนเอง จึงอาจแปรเปลี่ยนความคับข้องใจ เป็นแรงบวกสำหรับสู้ศึกเลือกตั้งปี 66 ก็เป็นได้
แม้จะเป็นเรื่องสุดหินกว่าเดิม เพราะอย่างน้อยมีถึง 3-4 พรรคใหญ่ที่ต้องห้ำหั่นกันก็ตาม
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา