วันนี้ (30 มี.ค.2566) ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีมีมติการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ
โดยศาลพิเคราะห์ว่า รฟม.และคณะกรรมการฯ มีอำนาจในการประกาศยกเลิกเอกชน เนื่องจากในเอกสารประกาศเชิญชวนได้ระบุไว้ว่า รฟม. สงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนได้ และเป็นการทำตามตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปี 2562
การยกเลิกไม่ขัดความเสมอภาคและเป็นการดำเนินการโดยสุจริตเพราะคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอเอกชนรายใด ทำให้การยกเลิกไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง นอกจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก
ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยการยกเลิกการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกล่าช้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนทางการเงินของส่วนตะวันตก รวมถึงจะทำให้การให้บริการส่วนตะวันออกล่าช้า ส่งผลให้มีค่าใช้ด้านงานโยธาส่วนตะวันออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการทั้งเส้นจะมีผู้ใช้บริการ 439,736 คนต่อเที่ยวต่อวัน หากเปิดล่าช้าจะทำให้ผู้ใช้บริการสูญเสียประโยชน์
ในกรณีที่คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการฟ้องร้องคดีหลายสำนวนของศาลปกครองจึงไม่สามารถทราบวันเวลาสิ้นสุดว่าจะสิ้นสุดคดีเมื่อไร ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการฯมีปัญหาล่าช้า โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถเดินหน้าเปิดประมูลโดยไม่ต้องรอให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยทั่วไปที่สามารถยอมรับได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลยกฟ้องคดี "บีทีเอส" ฟ้อง คกก.คัดเลือกรถไฟฟ้าสายสีส้ม
30 มี.ค.ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนปมฟ้อง กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งมิชอบ