"แมลงปอยักษ์เขียวท้องส้ม" ถูกค้นพบโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นการค้นพบแมลงปอยักษ์ชนิดใหม่ของประเทศไทย โดยการศึกษาครั้งนี้ได้บูรณาการศาสตร์ทางอนุกรมวิธานเพื่อระบุสถานะของแมลงปอยักษ์ชนิดใหม่นี้ด้วย
ภาพ : Kasetsart University
แมลงปอยักษ์เขียวท้องส้มใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anax immaculifrons โดยมีรายงานการกระจายพันธุ์ที่กว้างมากตั้งแต่ตอนใต้ของทวีปยุโรป เอเชียใต้ จนมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางประเทศในเอเชียตะวันออก (จากภาพในแผนที่แสดงเป็นจุดสีส้มและสีน้ำเงิน) โดยสีท้องของประชากรที่พบทางแถบเอเชียใต้ไปจนถึงยุโรปตอนใต้จะเป็นสีฟ้า ส่วนประชากรที่พบทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีปจะเป็นสีส้ม
ภาพ : Kasetsart University
แมลงปอทั้ง 2 สี เคยจัดเป็นชนิดเดียวกัน จากหลักฐานที่พบแมลงปอสีต่างกันแพร่กระจายอยู่คนละพื้นที่ จึงนำไปสู่การศึกษาในด้านสัณฐานวิทยาและความสัมพันธ์ระดับโมเลกุล (DNA) ของแมลงปอทั้งสองประชากร ในตัวเต็มวัยและตัวอ่อน
รวมถึงแมลงปอยักษ์เขียวชนิดอื่นที่พบในเอเชีย พบว่านอกจากแมลงปอทั้งสองประชากร มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องลวดลายและสีสันของท้องแล้ว ยังมีรูปร่างของรยางค์ปลายท้องและอวัยวะเพศ ตลอดจนลำดับเบสใน DNA ก็มีความแตกต่างกัน
ภาพ : Kasetsart University
เมื่อรวมกับข้อมูลพื้นที่การกระจายพันธุ์ที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า A. immaculifrons ทั้งสองประชากรเป็นคนละชนิด และเราได้ตั้งชื่อให้กับประชากรที่พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกว่า A. aurantiacus ซึ่งแปลว่า สีส้ม ตามที่สีท้องที่โดดเด่นไม่เหมือนกับสมาชิกอื่น ๆ ในสกุลและพบได้ยากในวงศ์นี้
ภาพ : Kasetsart University
แมลงปอยักษ์เขียวท้องส้ม เป็นแมลงปอที่พบได้ค่อนข้างยาก มักพบบินไปมาเหนือลำธารตามภูเขาสูง และเกาะพักในแนวดิ่งตามพืชริมลำธารหรือกิ่งไม้สูงเหนือลำธาร ใน จ.เชียงใหม่ จ.เลย และ จ.สกลนคร ในช่วงเดือน มี.ค. จนถึง ต.ค.
ปกติตัวอ่อนของแมลงปอยักษ์พื้นที่ที่สะอาดมีการไหลเวียนของน้ำที่ดี จึงมักมีการใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำ การค้นพบครั้งนี้บ่งบอกถึงสภาพระบบนิเวศบริเวณลำธารต้นน้ำได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยค้นพบแมลงปอชนิดใหม่ของโลก โดยเผยแพร่ลงในวารสาร Odonatologica ซึ่งเป็นวารสารเก่าแก่มากกว่า 50 ปี และมีชื่อเสียงในวงการนักธรรมชาติวิทยาที่ศึกษาแมลงปอ ในเดือน ธ.ค.2565
สำหรับทีมนักวิจัย ประกอบด้วย ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล นักวิจัยหลังปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.กรอร วงษ์กำแหง ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ นายนพปฎล มากบุญ นักกีฏวิทยาผู้เชี่ยวชาญทางด้านแมลงปอ