พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งประเทศอังกฤษ (Natural History Museum) เผยว่า "แร่รัตนชาติ" หรือ "แร่หิน" (Gemstone) ทรงกลมสีขาวอมชมพู ขนาด 15 เซนติเมตรก้อนหนึ่ง ที่ได้รับการจำแนกให้จัดแสดงอยู่ในแผนกสินแร่ของพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1883 นั้นแท้จริงแล้วคือ "ไข่ของไดโนเสาร์" สายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่า “ไททันโนซอรัส” (Titanosaur) ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกที่เคยเดินบนพื้นดิน
โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้รับหินผลึกก้อนนี้มาจากชายนามว่า "ชาร์ลส์ เฟรเซอร์" ชาวอังกฤษผู้พำนักอาศัยในประเทศอินเดียช่วงปี ค.ศ. 1817-1843 ที่ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 ของไทย ซึ่งเขาค้นพบหินผลึกก้อนนี้ ก่อนหน้าที่นักวิทยาศาสตร์จะมีแนวคิดเรื่องเผ่าพันธุ์ของไดโนเสาร์เสียอีก
จนกระทั่งปี ค.ศ. 2018 "โรบิน แฮนเซน" หนึ่งในภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์สังเกตว่า แร่รัตนชาติก้อนนี้มีลักษณะคล้ายไข่ไดโนเสาร์ที่เธอเคยเห็นจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศฝรั่งเศสและเมื่อเธอนำแร่ชิ้นนี้ส่งไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านไดโนเสาร์แล้ว จึงได้รับการยืนยันว่าหินผลึกก้อนนี้คือซากของไข่ไดโนเสาร์ไททันโนซอรัส ตามที่กล่าวไปข้างต้น
"ไททันโนซอรัส" เป็นไดโนเสาร์กินพืชคอยาวที่มีขนาดลำตัวเติบใหญ่ได้ถึง 37 เมตร พร้อมกับน้ำหนักตัวถึง 57,000 กิโลกรัม ซึ่งจากหลักฐานฟอสซิลที่มีอยู่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าไททันโนซอรัสนั้น มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 68 ถึง 66 ล้านปีที่แล้ว โดยไททันโนซอรัสอาจมีพฤติกรรมอาศัยร่วมกันเป็นฝูง และวางไข่ครั้งละหลายสิบฟองคล้ายกับพฤติกรรมของเต่าทะเลและจระเข้ในปัจจุบัน
พอร์ล บาร์เร็ตต์ และซูซานนาห์ เมดเมนท์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไดโนเสาร์ของพิพิธภัณฑ์เผยว่า ซากไข่ไดโนเสาร์ฟองนี้มีอายุราว 67 ล้านปี ซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยหินที่พบได้รอบเขตภูเขาไฟโบราณ พวกเขาจึงคาดว่าไดโนเสาร์ไททันโนซอรัสกลุ่มหนึ่งได้วางไข่รังละ 30-40 ฟองที่บริเวณใกล้ภูเขาไฟ ในที่ราบสูงเดคคานส์ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน
เนื่องจากไดโนเสาร์ไททันโนซอรัสนั้น อาจอาศัยความอบอุ่นของหินบริเวณภูเขาไฟเพื่อช่วยในการกกไข่ ซึ่งไดโนเสาร์กินพืชคอยาวกลุ่มนี้มักกลับมายังบริเวณภูเขาไฟเพื่อวางไข่ทีละหลายสิบฟองอยู่เสมอ แต่ดันปรากฏว่าภูเขาไฟได้ปะทุขึ้นในขณะที่ลูกน้อยไททันโนซอรัสกำลังเติบโตอยู่ในไข่อย่างพอดิบพอดี จนกระทั่งลาวาร้อน ๆ จากภูเขาไฟได้เคลื่อนตัวมากลบไข่ใบนี้ และตกผลึกกลายเป็นแร่รัตนชาติแทนที่เนื้อเยื่อบอบบางของไข่ไททันโนซอรัสในที่สุด
ที่มาข้อมูล: Natural History Museum UK
ที่มาภาพ: Natural History Museum, London
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech