วันนี้ (12 เม.ย.2566) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจงประเด็นที่มีข่าวว่า กัญชาทางการแพทย์ในระบบบริการสาธารณสุขหมดอายุ แพทย์ไม่สั่งจ่ายให้ผู้ป่วย เนื่องจากไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของประสิทธิผล ว่า ปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เพื่อใช้ในระบบบริการสาธารณสุข ผลิตตามปริมาณและความต้องการการใช้ยา เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนการใช้ยาในผู้ป่วย
จากข้อมูลการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 เม.ย.66 จำแนกเป็น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 839 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข 27 แห่ง
รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 740 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 11 แห่ง ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา จำนวน 12 แห่ง รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,629 แห่ง พบว่ามีปริมาณการใช้ 18,113,148 (ขวด/ซอง/แผง) ในผู้ป่วย 258,513 คน โดยมีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาอย่างต่อเนื่อง 42,654 คน หรือร้อยละ 16.5
5 อันดับ รายการยาสั่งจ่ายมากสุด
รายการยาที่มีการสั่งจ่ายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ 7,348,654 ซอง/แผง ยาแก้ลมแก้เส้น 6,763,540 ซอง/แผง ยาทำลายพระสุเมรุ 2,064,421 ซอง/แผง น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) 1,505,878 ขวด และยาแก้ลมเนาวนารีวาโย 220,568 ซอง/แผง
อีกทั้ง ข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยฯ พบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาปี 2562 - ปัจจุบัน จำนวน 79,423 คน มีการใช้ยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยในกลุ่มอาการโรคที่เข้ารับการรักษา ตามอาการต่าง ๆ ดังนี้ อาการนอนไม่หลับ 197,516 ครั้ง อาการปวดตามร่างกาย (ปวดขา ปวดเข่า ปวดบ่า ปวดไหล่) 18,179 ครั้ง อาการปวดหลัง 9,558 ครั้ง อาการลมปะกัง หรือลมตะกัง 8,659 ครั้ง และอาการอื่น ๆ อาทิ อาการสันนิบาตลูกนก (โรคพาร์กินสัน) ลมจับโปงแห้งเข่า ปวดศีรษะ อาการชา รวม 14,131 ครั้ง
กัญชาทางการแพทย์แผนไทย ส่วนหนึ่งได้รับการบรรจุเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ทำให้เกิดความมั่นใจได้ในความปลอดภัย